Home
|
ทั่วไป

อนุทินขอมั่นใจวัคซีนย้ำยึดปลอดภัยวอนช่วยลดยอดโควิด

Featured Image
“อนุทิน” ขอประชาชน เชื่อมั่นวัคซีนโควิด19 รับบริการช่วยชาติสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดยอดผู้ป่วย เผย รัฐบาลจัดหายาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มเติม

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ว่า สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนกา จะเป็นวัคซีนหลักของไทย ซึ่งผลิตในไทย โดยสยามไบโอไซเอนซ์ ได้เริ่มผลิตตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2563 ตามแผน จะเริ่มส่งให้ไทยได้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ผู้ผลิตได้แจ้งว่า วัคซีนได้มาตฐานผ่ายการตรวจสอบจากต่างประเทศ และผลิตได้ตามกำหนด และได้มาตรฐานในระดับสากล

แน่นอนว่า ที่ผ่านมามีการวิพากษ์ วิจารณ์วัคซีน ขอให้ย้อนกลับไปดูที่กระบวนการพิจารณานำเข้ามาให้บริการนั้น ผ่านการคิดวิเคราะห์คำนึงถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพของวัคซีน ความปลอดภัย ซึ่งมีการเห็นชอบจากคณะกรรมการวิชาการด้านการใช้วัคซีน นอกจากนี้ต้องผ่านการตรวจสอบเห็นชอบจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงาน อย. การนำเข้ามา ตรวจสอบมาแล้วหลายขั้นตอน ขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในวัคซีน รัฐได้จัดหาวัคซีนโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก

 

ทั้งนี้ เรื่องการเกิดอาการไม่พึงประสงค์นั้น มีเกณฑ์การจ่ายชดเชยให้ตามกฎหมาย แต่รัฐพร้อมจะเข้าไปดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบแน่นอน นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือจากประชาชน หลังฉีดวัคซีน ให้เฝ้าดูอาการประมาณ 30 นาทีหลังได้รับวัคซีน ขอย้ำว่า วัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีน 1.เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อและแพร่เชื้อ 2.ป้องกันไม่ให้อาการหนัก 3.ป้องกันไม่ให้ตาย

ทั้งนี้ ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนเชื่อมั่นในวัคซีน สิ่งที่สำคัญของวัคซีนคือช่วยให้ป่วยแล้วอาการไม่หนัก ทำให้โอกาสในการแพร่เชื้อน้อยลงไปด้วย โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำการหารือกับไฟเซอร์ โดยไฟเซอร์ได้แจ้งว่าวัคซีนไม่ต้องเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำมากๆ แล้ว และวัคซีนยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มอายุ 12 ปี ซึ่งในไทย ยังไม่มีตัวไหนครอบคลุมในกลุ่มอายุนี้ รัฐบาลจึงต้องนำมาพิจารณาเป็นเศษ ทางไฟเซอ์จะพยามจัดส่งให้ได้ หากทางเรารับเงื่อนไข ในการจัดซื้อ เงื่อนไขทางด้านกฎหมาย เงื่อนไขด้านการชำระเงิน และเงื่อนไขในการจัดส่ง เมื่อคู่เจรจายอมรับเงื่อนไขของกันและกัน ไฟเซอร์สามารถส่งให้ไทยได้ไม่เกิน20 ล้านโดส ภายในครึ่งปีหลัง

ส่วนการขึ้นทะเบียนวัคซีน นายอนุทิน กล่าวว่า ภาครัฐเปิดกว้าง ขอให้เอกชน หรือผู้ผลิต นำเอกสารมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ซึ่งภาครัฐไม่มีการถ่วงเวลาแน่นอน

 

“อนุทิน” เผย “หมอโอภาส” ยังกำลังใจดี ชมเปาะ จิ๋วแต่แจ๋ว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อม นพ.โสภณ เมฆธน กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ยืนยันชัดเจนว่า กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งนี้ เพื่อให้การลงทะเบียนบรรลุเป้าหมาย 16 ล้านโดสแรก เราจึงเปิดช่องทางลงทะเบียนด้วยตนเองที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เป็นกำลังหลักในการขยายข่าวสาร และสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในหมู่บ้านด้วย

ทั้งนี้ มติในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา เราได้ขยายการฉีดวัคซีนในประชากรวัยแรงงาน โดยมีสํานักงานประกันสังคม และทางจังหวัดเป็นผู้รวบรวมรายชื่อแรงงานที่จะรับวัคซีนส่งมายัง สธ. เพื่อกระจายการฉีดวัคซีนต่อไป

นายอนุทิน กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญคือบุคลากรสาธารณสุขทั้งที่ทำงานด่านหน้า ที่เสียสละเวลาของตัวเองมาทำงานดูแลพี่น้องประชาชน โดยเราเร่งสร้างเกราะป้องกันให้คนทำงาน ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้บุคลากรสาธารณสุข สร้างความปลอดภัย ความมั่นใจให้คนทำงาน ส่วนบุคลากรเบื้องหลัง ที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์รายชั่วโมง ปรับแผนการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเต็มความสามารถ วันหยุดก็มาทำงาน ทุกเช้า 7 โมงก็ประชุมอีโอซีทุกวันไม่มีวันหยุด

ทั้งนี้ อยากให้ทุกคนร่วมกันให้กำลังใจทำคนงาน ผมและผู้บริหาร สธ. ทุกวันนี้ต่างให้กำลังใจกันและกัน โดยฉพาะ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เห็นจิ๋วแบบนั้นแต่แจ๋วมาก ทำงานบนความกดดัน แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ก็ไม่บั่นทอนกำลังใจตัวเอง แต่ในหลายครั้งที่คุณหมอออกมาพูด อธิบายในข้อโต้แย้งต่างๆ ก็เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนอย่างถูกต้อง คุณหมอมีความหวังดี และเราต้องให้กำลังใจ ฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน” นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด ช่วยกันลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด

 

 

 

 

“อนุทิน” เผย รัฐบาลจัดหายาฟาวิพิราเวียร์เพิ่มเติม ขณะ อภ.เริ่มผลิตในประเทศไทยได้แล้ว คาดแล้วเสร็จ มิ.ย.นี้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ส่วนใหญ่ยังพบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าไปช่วยคลี่คลายปัญหา ตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเหลือภาระงานของหน่วยงานหลัก ทั้งนี้ สธ. โดยความร่วมมือจากทุกกรม จัดตั้งศูนย์แรกรับผู้ป่วยโควิด 19 และส่งต่อผู้ป่วย เพื่อช่วยกรุงเทพมหานคร แก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วย ต่อมาเมื่อมีรายงานปัญหาว่า มีผู้ป่วยแสดงอาการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จนอาจกระทบกับระบบโรงพยาบาลปกติ

ทางกระทรวงฯ จึงได้ตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม ใช้อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง รองรับเบื้องต้น 1,200 เตียง สามารถขยายได้ถึง 5,000 เตียง ใช้หมอจากทั่วประเทศ โดยจะไม่กระทบกับงานของหมอที่รักษาผู้ป่วยอยู่แล้ว จะรับผู้ป่วยอาการน้อยถึงปานกลางเข้ามาดูแลที่นี่ เพื่อช่วยให้โรงพยาบาล ในกรุงเทพฯ รับผิดชอบผู้ป่วยอาการหนักโดยเฉพาะ

นายอนุทิน กล่าวว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นนโยบายแล้วว่าจะต้องสำรองใช้ไม่ขาด โดยจะต้องมีหมุนเวียนใช้ในคลัง พร้อมจัดหาสั่งซื้อเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เราจะต้องพึ่งพาตัวเองได้ โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จึงเริ่มผลิตยานี้ในประเทศไทยได้แล้ว อยู่ในระหว่างการศึกษาชีวสมมูล คาดว่าจะผลิตแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.

ขณะเดียวกัน เดือนนี้ประเทศไทยจะมีวัคซีนซิโนแวค รวม 3.5 ล้านโดสผ่าน อภ. เป็นผู้นำเข้า และเดือน มิ.ย. วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในล็อตใหญ่ ก็จะทยอยนำมาฉีดให้ประชาชน

 

นพ.เกียรติภูมิ-วงศ์รจิต อนุทิน

สธ.ห่วงแรงงานต่างชาติลักลอบนำเชื้อโควิด-19 เข้าไทย เร่งค้นหา ขอประชาชนแจ้งเบาะแส

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าวันนี้ กทม.และ 5 จังหวัดปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อรวม 1,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 ของการติดเชื้อทั้งหมดแนวโน้มการระบาดชะลอตัว ยังพบผู้ติดเชื้อในชุมชน เช่น คลองเตย สี่แยกมหานาค ปากคลองตลาด แฟลตดินแดง บางแคบริเวณห้างสรรพสินค้าและชุมชนใกล้เคียงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเร่งคัดกรองนำผู้ติดเชื้อออกมาดูแลและกักกันกลุ่มเสี่ยง ตั้งแต่ 1 เม.ย ถึง 9 พ.ค. คัดกรองไปแล้ว 113,642 ราย พบการติดเชื้อร้อยละ 2.84

ส่วนปริมณฑลยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง แนวโน้มการระบาดของโรคคงตัว เน้นคัดกรองเชิงรุกใน ชุมชน และสถานที่เสี่ยง ที่อาจมีแรงงานต่างด้าวลักลอบอาศัยพร้อมมอบกรมการแพทย์และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพหารูปแบบรองรับผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนมาก เช่น ในกลุ่มสีเขียวให้มีระบบกักตัวในชุมชน อาจใช้พื้นที่ส่วนกลางของชุมชน โรงเรียน เป็นพื้นที่กักตัว

ในภูมิภาค 71 จังหวัด การระบาดมีแนวโน้มลดลงวันนี้พบผู้ติดเชื้อรวม 622 ราย ได้กำชับให้จังหวัดที่มีพื้นที่ติดประเทศเพื่อนบ้านคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งประสานฝ่ายปกครองกำกับติดตามป้องกันการลักลอบเข้าประเทศ และเพิ่มการฉีดวัคซีนในกลุ่มเจ้าหน้าที่ด่าน ตำรวจ และทหาร ที่ทำหน้าที่จับกุมผู้ลักลอบผ่านช่องทางธรรมชาติ ขอความร่วมมือประชาชนแจ้งเบาะแสหากพบการขนส่งแรงงานลักลอบเช้าประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในประเทศ

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศ ขณะนี้จัดสรรวัคซีนไปแล้ว 2,427,452 โดส จำนวนการฉีดสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.-9 พ.ค. 2564 รวม 1,809,894 โดส มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก 1,296,440 ราย วัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 513,454 ราย

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube