“วัคซีนโควิด19” คือความหวังของคนทั้งประเทศที่รัฐบาลและคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดของโรคอุบัติใหม่หลายท่านยืนยันว่า วัคซีนโควิดที่ประเทศไทยนำมาฉีดให้ประชาชน “ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา” รวมถึง “วัคซีนทางเลือก” ยี่ห้ออื่นๆที่จะตามมานั้นได้กำลังดำเนินการเปิดให้ประชาชนจองฉีด แต่ยังมีความกังวลจนยอดจองไม่มากแม้มีผลข้างเคียงบ้างแต่มีความปลอดภัยและเป็นประโยชน์กว่าไม่ฉีด เพราะฉีดแล้วจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ สามารถช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่กำลังระบาด และจะทำให้สถานการณ์ของประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น
เช็กเลยอยู่กลุ่มไหนฉีดเมื่อไหร่
ข้อมูลของ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า รัฐบาลเดินหน้าตามแผนการบริการฉีดวัคซีนโควิด19 ให้แก่ประชาชนไทย แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ใน 5 กลุ่ม โดยระยะแรกเริ่มแล้วในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 1.2 ล้านคน และบุคลากรอื่นๆ ด่านหน้าอีก 1.8 ล้านคน ซึ่งสองกลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนครบถ้วนในเดือน พ.ค.นี้ ส่วนระยะที่ 2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดให้ลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค รวม 4.3 ล้านคน ได้แก่
- โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคมะเร็งทุกชนิดระหว่างการรักษา
- โรคเบาหวาน
- โรคอ้วน
- ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป
ทั้งหมด 11.7 ล้านคน กลุ่มสุดท้าย ระยะที่ 3 เป็นประชาชนอายุ 18-59 ปี จำนวน 31 ล้านคน จะเริ่มเปิดจองฉีดวัคซีนวันที่ 1 ก.ค. และเริ่มฉีดวัคซีน ส.ค. 2564
รีบจองดีกว่า ระยะที่ 2 คนยังน้อย
แน่นอนว่าคำถามที่ตามมาคือ เจ้าวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อ ที่รัฐบาลนำเข้ามาทั้ง ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา ปลอดภัยจริงหรือไม่ เพราะเห็นข่าวของคนที่ฉีดวัคซีน มีอาการข้างเคียง ไม่เว้นแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์เองก็เจอผลข้างเคียงกันบางส่วน ทำเอาประชาชนที่เสพข่าวสารในแง่มุมของผลข้างเคียงจากวัคซีนอาจเกิดความไม่แน่ใจ
จะเห็นได้จากยอดจองฉีดวัคซีนโควิด-19 ข้อมูลล่าสุด จากเพจ “หมอพร้อม” ณ วันที่ 10 พ.ค.2564 เวลา 08.00 น. พบว่าขณะนี้มีลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนสะสม 10 วัน รวม 1,574,954 ราย
โดยผู้ที่มีสิทธิลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 รอบนี้ มีทั้งหมด 16 ล้านคน จาก 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.7 ล้านคน และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 4.3 ล้านคน ซึ่งทุกคนจะได้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา จะเห็นว่า ยังเหลือสิทธิ์ในการจองอีกกว่า 14 ล้านคน เป็นคำถามตามมาว่า แล้วคนที่ยังไม่ลงทะเบียนในการจองฉีดวัคซีน เพราะยังไม่มั่นใจในวัคซีนทั้ง 2 ชนิดหรือไม่
ซิโนแวคกับอาการ ISRR ที่หลายคนเป็นห่วง
ISRR หรือ immunization stress related reaction ที่เป็นปฏิกิริยาความเครียดจากการรับวัคซีน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า ขณะนี้มีคนกังวลเรื่องนี้จริง แต่ต้องย้ำว่า อย่างไรก็จำเป็นต้องฉีดวัคซีน แม้จะมีอาการไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียงบ้าง แต่ไม่มากเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่คนไทยทุกคนจะได้รับ เนื่องจากขณะนี้ทางการแพทย์เราทราบกลไก ผลข้างเคียงและการรักษา สามารถรักษาได้
อย่างกรณีของวัคซีน “ซิโนแวค” ที่มีแนวทางของกองระบาดระบุว่า ให้พิจารณาในส่วนของอาการ ISRR หรือ immunization stress related reaction ที่เป็นปฏิกิริยาความเครียดจากการรับวัคซีนค่อนข้างมาก ซึ่งตรงนี้มีส่วนจริง แต่ต้องไม่ลืมวินิจฉัยอาการที่เป็นภาวะจริงที่มีผลต่อระบบประสาทด้วย และต้องการการดูแลรวมทั้งการติดต่อกลับไปยังบริษัทผู้ผลิต
ส่องเคสแพ้ ซิโนแวค-แอสตราเซเนกา รักษาได้
หมอธีระวัฒน์ ยกตัวอย่าง เคสที่มีปัญหาจากการฉีดวัคซีน ซิโนแวค อย่างจังหวัดลำปาง ที่แพทย์ต้องสอดสายแล้วฉีดสีเข้าเส้นเลือดสมอง angiogram และให้ยาขยายหลอดเลือดเฉพาะที่ และทางโรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชาใช้ thrombolysis 6 ราย ซึ่งแสดงชัดเจนว่าเข้าเกณฑ์ของ stroke ภาวะเส้นเลือดสมองผิดปกติเฉียบพลัน และที่สุรินทร์ อีก 17 ราย อาการเป็นปวดศีรษะและชาครึ่งซึก รวมทั้งที่ จ.อุบลราชธานี และที่ จ.ขอนแก่น พบมีผู้เป็นแขนขาอ่อนแรงค่อนข้างมาก แต่ทั้งหมดของผู้ได้รับผลแทรกซ้อนเหล่านี้อยู่ในมือของ ผู้เชี่ยวชาญทางสมอง neurologist ทั้งสิ้น ในการวินิจฉัย การติดตามและการรักษา ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดหลังจากฉีด 24 ชั่วโมง สำหรับอาการชาหรือจี๊ดๆตรงปาก หน้า และ แขนข้างเดียวกัน หรือครึ่งซีกของร่างกาย และเมื่อได้รับยาขยายเส้นเลือดในปริมาณน้อย มีอาการปวดหัวหลังจากทาน 2 นาทีเป็นอยู่ 5 นาที จากการที่เส้นเลือดขยายตัวจากยา แต่อาการชานั้นจะดีขึ้นอย่างชัดเจน น่าจะเป็นไปได้ที่ใช้ยาขยายหลอดเลือดในปริมาณน้อยที่สุดเวลาที่มีอาการทุก 12 ชั่วโมง
ส่วนกรณีของ แอสตราเซเนกา นั้นมักเกิดผลข้างเคียงในคนอายุน้อยกว่า 60 ปี แต่ออกมาในรูปของลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำและแดงในตำแหน่งที่ไม่พบบ่อยเช่นในท้องและในสมอง แต่รักษาได้ ดังนั้น แม้จะมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น แต่เป็นอาการที่รักษาได้ และเมื่อเทียบกับประโยชน์ย่อมมีมากกว่า จึงจำเป็นต้องเร่งรีบฉีดวัคซีนโควิดให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุดสำหรับคนไทยทั้งประเทศ
ฉีดล้านโอกาสแพ้แรง4คน
ขณะที่ นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยังย้ำว่า วัคซีนเป็นหนึ่งในเครื่องมือตัวหนึ่งที่จะทำให้เราปลอดภัย มีข่าวลือเยอะมากในเรื่องของวัคซีน แต่ตนให้ข้อมูลว่า ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน เมื่อเทียบกับตัวเลขอัตราการเสียชีวิตหรือความเสี่ยงจากโควิด-19 นั้น แตกต่างกันอย่างมากมาย ฉีดวัคซีน 1 ล้านคน มีโอกาสที่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง มีตัวเลขประมาณ 4 คน ผลข้างเคียง หรือผลไม่พึงประสงค์ต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่ติดโควิด-19 ตัวเลขของโลกในวันนี้ 100 คน เสียชีวิต 2.2 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างมาก
พร้อมกันนี้ นพ.ประสิทธิ์ ยังย้ำด้วยว่า “ขอความกรุณา การฉีดวัคซีนไม่ใช่เพื่อตัวท่านเอง แต่เพื่อไม่แพร่เชื้อให้คนที่ท่านรัก ถ้าฉีดได้เยอะพอและทันเวลาเป็นการช่วยประเทศ เพราะโควิด-19 มันจะอยู่ไม่ได้ ถ้าคนในประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง ขอความกรุณามั่นใจ สิ่งเดียวที่มีอยู่ในสมองเรา ทำอย่างไรให้คนไทยปลอดภัยจากโควิด-19 ขอให้เชื่อกัน อีกครั้งหนึ่งนะครับ ผมขอกันจริงๆ ผมขอร้องกันจริงๆ นะครับ ถ้าเราร่วมกันจริงๆ ผมเชื่อว่าเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วยดี อย่ารอจนวิกฤติรุนแรงจนแก้ไขไม่ได้ แล้วเราค่อยคิดออก”
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news