Home
|
ทั่วไป

สธ.-เครือข่ายสร้างห้องปฏิบัติการเฝ้าระวังโควิดกลายพันธุ์

Featured Image
สธ.จับมือเครือข่ายสร้างห้องปฏิบัติการเฝ้าระวังเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ “หมอยง” จับตาสายพันธุ์”เบตา” และ “แกมมา”

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในฐานะองค์กรหลักของประเทศในการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อโรค ได้สร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เพื่อดำเนินงานเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ที่มีห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยเพื่อให้ประเทศไทยมีข้อมูลเฝ้าระวังสายพันธุ์ ได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) และสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) ที่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน และตรวจพบในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการตรวจเฝ้าระวังเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่น่ากังวลซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เฝ้าระวังมี 3 สายพันธุ์ ประกอบด้วยสายพันธุ์แอลฟ่า (อังกฤษ), สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) และสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) พบว่า1.สายพันธุ์แอลฟ่า เป็นต้นเหตุของการระบาดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม พบเกือบทุกจังหวัด และเข้ามาแทนสายพันธุ์ที่เคยระบาดอยู่ในประเทศไทย 2.สายพันธุ์เดลต้า พบรายงานครั้งแรกในเขตกรุงเทพมหานคร และมีการระบาดออกไปในภาคเหนือและภาคอีสานตามกลุ่มแรงงานที่เดินทางกลับบ้านจากกรุงเทพมหานครในช่วงระบาด 3.สายพันธุ์เบต้า พบรายงานครั้งแรกในจังหวัดชายแดนภาตใต้ เนื่องจากสายพันธุ์นี้ระบาดในรัฐกลันตันของประเทศมาเลเซีย พบได้จากกลุ่มบุคคลที่เดินทางข้ามพรมแดนไทยและมาเลเซีย ซึ่งต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด สำหรับผู้ป่วยในจังหวัด ปัตตานี สงขลา และนราธิวาส

ขณะที่ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องผลกระทบจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ว่า จากข้อมูลที่มีรายงานทั่วโลก การกลายพันธุ์เป็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ไวรัสโควิด-19 ก็มีการกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอดของไวรัส ไวรัสที่กลายพันธุ์และแพร่กระจายได้ง่ายก็จะแพร่ขยาย และกลบสายพันธุ์เดิมที่มีการแพร่กระจายได้น้อยกว่า แต่เดิม สายพันธุ์อู่ฮั่น เรียกง่าย ๆ เป็นสายพันธุ์ S และ L สายพันธุ์ L แพร่ได้มากกว่า

จึงกระจายมากในยุโรปและการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ G และ V ต่อมาสายพันธุ์ G แพร่ได้ง่ายจึงกระจายทั่วโลกและแทนที่ สายพันธุ์อู่ฮั่น หลังจากนั้นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) แพร่กระจายได้ง่ายจึงกลบสายพันธุ์ G เดิม ตอนนี้มีสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) ที่แพร่กระจายง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟาเข้ามา ทำให้เกรงกันว่าสายพันธุ์เดลตาจะทำให้ระบาดเพิ่มขึ้นและมาแทนสายพันธุ์อัลฟาในอนาคต ส่วนสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) เป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่หลบหลีกภูมิต้านทานได้ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง จึงต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ สายพันธุ์ดังกล่าวคือ เบตา และ แกมมา ทั้งสองสายพันธุ์แพร่กระจายได้น้อยกว่าสายพันธุ์แอลฟ่า และเดลตา การศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ ในคนไทยที่กลับจากต่างประเทศตรวจพบเชื้อSAR-CoV-2 ได้เกือบทุกสายพันธุ์ ทำให้สามารถพัฒนาวิธีตรวจเฝ้าระวังการกลายพันนธุ์ที่แม่นยำและทำได้รวดเร็ว ในขณะนี้ยังติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ใน State Quarantine และ Alternative state quarantine อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยที่เข้ามาทางสนามบิน จะมีโอกาสน้อยมากที่จะแพร่กระจายโรค ที่ผ่านมาการระบาดเกิดจากการลักลอบผ่านชายแดนเข้ามา ขอฝากประชาชนที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบผ่านชายแดนเข้ามาให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แจ้งเบาะแส เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสายพันธุ์น่ากังวล เพราะเชื้อเหล่านี้จะทำให้เกิดการระบาดรุนแรงในประเทศไทยได้

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube