ชวนยัน22-24มิย.ถกพรบ.ประชามติแก้รธน.
“ชวน” ยัน ประชุมรัฐสภา 22-24 มิ.ย. พิจารณา พรบ.ประชามติ ขณะ แก้ รธน. หวังทุกฝ่ายยื่นโดยเร็วพิจารณาพร้อมกัน “วิษณุ”ชี้ยื่น แก้มาตรา 256 อีก ทำได้
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพิจารณากฎหมายที่ค้างวาระ ทั้ง พรบ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และพรบ.ยาเสพติด ว่า จะกำหนดการประชุม 3 วัน ตั้งแต่ 22-24 มิถุนายน นี้
โดยในวันที่ 22 มิถุนายน กำหนดให้พิจารณากฎหมาย ที่ค้างอยู่ในวาระการประชุม 2 ฉบับ คือ พรบ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติและพรบ.ยาเสพติด จากนั้นในวันที่ 23 มิถุนายน ก็จะพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งนำเรื่องนี้มาไว้ช่วงหลังการประชุม เพราะเผื่อเวลาให้แต่ละฝ่ายเตรียมความพร้อม และตรวจร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์และถูกต้อง ไม่ให้เกิดข้อบกพร่องทำให้เสียเวลา อีกทั้งหากพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ก็ยังสามารถพิจารณาในวันที่ 24 มิถุนายนต่อได้
นอกจากนี้ นายชวน กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมรัฐบาล พยายามที่จะเสนอให้พิจารณาญัตติการแก้รัฐธรรมนูญก่อนว่า ประธานจะเป็นผู้จัดวาระการประชุม และเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เตรียมตัวก็จะเอาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไปไว้ทีหลัง และยืนยันว่ากฎหมายที่ค้างอยู่ จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ
พร้อมย้ำว่า เมื่อได้ข้อสรุปในการหารืออย่างไร ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งการพิจารณากฎหมายพ.ร.บ.ประชามติต้องพิจารณาอยู่แล้ว ไม่สามารถที่จะเตะถ่วงได้ ไม่เช่นนั้นกฎหมายอื่นก็จะเข้ามาพิจารณาไม่ได้ หากยังมีกฎหมายค้างอยู่
ทั้งนี้ เห็นว่าหากรัฐบาลเสนอเลื่อนเร็วขึ้นมาเพียงวันเดียว ก็ไม่มีประโยชน์อะไร รอไว้ให้ทุกฝ่ายมีความพร้อมดีกว่า ซึ่งได้รับทราบมาว่า ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติในวันที่ 16 มิถุนายน รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค และยังมีภาคประชาชน ที่ประสาน ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาด้วย หากยื่นทัน ก็จะสามารถบรรจุระเบียบวาระในการประชุมเดียวกันได้
“วิษณุ” ชี้ยื่นแก้ รธน. มาตรา 256 ทำได้ คู่ขนาน พ.ร.บ.ประชามติ คาดเสร็จพร้อมกัน ไม่ขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงฝ่ายค้านจะยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 อีกรอบ แต่ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ยังค้างอยู่ในที่ประชุมรัฐสภา ว่า สามารถทำได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน และกระบวนการยังอีกยาว การแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ต้องผ่านวาระ 1 วาระ 2 ทิ้งเวลาไว้ 15 วัน ถึงจะลงมติวาระ 3 จึงจะไปถึงขั้นตอนการไปออกเสียงประชามติ
เพราะฉะนั้นกฎหมายประชามติ ก็จะเดินหน้าต่อไปเองอีกทาง เพราะเหลืออีกไม่กี่มาตรา ก็จะแล้วเสร็จในที่ประชุมรัฐสภา จากนั้นก็เป็นการทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็คงจะไปเจอกันพอดี
ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่มีกฎหมายประชามติรองรับ จะมีไม่ปัญหาใช่หรือไม่ เพราะกฎหมาย 2 ฉบับไปเจอกันพอดี นายวิษณุ ตอบเพียงว่า “ใช่”
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news