กระทรวงสาธารณสุข ยันกระจายวัคซีนโควิด 19 ตามการประเมินความต้องการของแต่ละพื้นที่ แล้วสาเหตุของการเลื่อนฉีดวัคซีนมาจากอะไรกันแน่
จากกรณีที่มีโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ออกประกาศขอเลื่อนการฉีดวัคซีน โควิด 19 นั้น ซึ่งองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดหาและกรมควบคุมโรคเป็นผู้กระจายวัคซีนตามแผนที่ ศบค. วางไว้ การดำเนินการจัดสรรวัคซีนเป็นไปตามแผนการประเมินความต้องการตามหลักวิชาการพื้นที่ จำนวนประชากรและสถานการณ์การระบาด ส่วนการบริหารวัคซีนต่อจากนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กทม. ในการนัดหมายประชาชนตามลำดับที่จัดไว้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในพื้นที่ สอดคล้องตามเป้าหมายฉีดให้คนไทยอย่างน้อย 50 ล้านคน หรือ ร้อยละ 70 ของประชากรในประเทศไทยหรือ 100 ล้านโดส
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัคซีนแล้ว 8.1 ล้านโดส แบ่งเป็น แอสตราเซเนกา 2.1 ล้านโดส และซิโนแวค 6 ล้านโดส วัคซีนโควิด 19 ที่ได้รับการส่งมอบมาจากบริษัทวัคซีนจะทยอยมา และกรมควบคุมโรค จะส่งต่อให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยการวางระบบควบคุมมาตรฐานตั้งแต่การตรวจสอบคุณภาพการเก็บรักษา และการควบคุมอุณหภูมิของพื้นที่ปลายทางที่จะรับวัคซีน ตามธรรมชาติของการผลิตวัคซีนโควิด 19 ซึ่งเป็นสารชีววัตถุ จะมีความไม่แน่นอนในการผลิตยาและเวชภัณฑ์ทั่วไป และเมื่อผลิตเสร็จต้องมีการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนอย่างละเอียดรอบคอบ โดยหน่วยงานควบคุมคุณภาพ (Quality assurance)ทั้งในประเทศไทย และที่ต่างประเทศ เพื่อให้ถึงมือผู้รับตามมาตรฐานควบคุมคุณภาพวัคซีน
นับตั้งแต่เริ่มมีการให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 นั้น มีการฉีดวัคซีนสะสม รวม 6,188,124 โดส (วันที่ 28 ก.พ.–13 มิ.ย. 2564) โดย กทม. ฉีดสะสมสูงสุด 1,716,394 โดส คิดเป็น ร้อยละ 27.7 แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 1,346,993 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 369,401 โดส ซึ่งหลักการจัดสรรวัคซีนโควิด 19 ใช้ข้อมูลทางวิชาการลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายเชิงประชากรในการจัดสรรวัคซีน พิจารณาข้อมูลและสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 โดยพื้นที่ระบาดจะได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่มากกว่าจังหวัดที่ไม่มีการระบาด โดยในช่วงกุมภาพันธ์-พฤษภาคม เริ่มฉีดกลุ่มแรก คือ บุคลากรด่านหน้า และเจ้าหน้าที่ผู้มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย เช่น แพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ อสม. เป็นต้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเร่งด่วนขณะนี้ได้ฉีดให้บุคลากรด่านหน้าเกือบครบในทุกพื้นที่
สำหรับแผนการกระจายวัคซีนในเดือนมิถุนายน แบ่งเป็น 2 งวด ครอบคลุมการฉีดในระยะ 2 สัปดาห์ คือ งวดแรกวันที่ 7-20 มิถุนายน ประมาณ 3 ล้านโดส (ซิโนแวค 1 ล้านโดส และแอสตราเซนเนกา 2 ล้านโดส) เบื้องต้นมีการจัดส่งไปยัง กทม. 5 แสนโดส เป็นวัคซีนชองแอสตราเซนเนกา 3.5 แสนโดส และซิโนแวค 1.5 แสนโดส สำนักงานประกันสังคม 3 แสนโดส และกลุ่มมหาวิทยาลัย 11 แห่งตามที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) 1.5 แสนโดส สำหรับฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ กทม. เป็นหลัก สำหรับกลุ่มที่ลงทะเบียนหมอพร้อม 76 จังหวัดจัดสรร 1.1 ล้านโดส ตามจุดฉีดต่างๆ สำหรับองค์กรภาครัฐ เช่น ขนส่ง ทหาร ตำรวจ และครู
1 แสนโดส และพื้นที่ควบคุมการระบาด 5 หมื่นโดส ส่วนงวดที่ 2 สำหรับวันที่ 21 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม อีก 3.5 ล้านโดส เป็นซิโนแวค 2 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า 1.5 ล้านโดส รวมจำนวนมากกว่า 6.5 ล้านโดส
ทั้งนี้ ศบค.ได้กำหนดข้อแม้ไว้ว่าหากวัคซีนไม่ได้รับตามเป้าหมาย จะมีการลดทอนตามสัดส่วนหรือหากเกิดการระบาดมากในพื้นที่ใดเกินที่คาดการณ์ไว้ สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนแปลงจากนี้ได้และจะต้องสำรองวัคซีนไว้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินมากกว่า 2 แสนโดส โดยตั้งเป้าหมายว่าก่อนเดือนกันยายน 2564 คนไทย
ประมาณร้อยละ 60-70 จะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก เพื่อให้ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันในเดือนตุลาคม และทำการเปิดประเทศต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news