ศบค.จ่อผ่อนคลายชัด18มิ.ย.พบบริษัทสื่อดังพิธีกรป่วยโควิด
ศบค. เผย พบคลัสเตอร์ใหม่พื้นที่นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี และอยุธยา ขณะผู้มีอาการแพ้วัคซีนอย่างรุนแรงอาจจะใช้วัคซีนที่มีการผลิตที่แตกต่างกันออกไปในเข็มที่ 2
แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อ 10 อันดับมากที่สุด ประกอบด้วย
- กรุงเทพมหานคร 807 ราย
- นนทบุรี 204 ราย
- สมุทรปราการ 161 ราย
- ชลบุรี 108 ราย
- สมุทรสาคร 101 ราย
- ฉะเชิงเทรา 96 ราย, ปทุมธานี 89 ราย
- สงขลา 60 ราย
- นครปฐม 52 ราย
- พระนครศรีอยุธยา 50 ราย
- นครศรีธรรมราช 50 ราย
ขณะที่พบคลัสเตอร์ใหม่ที่จังหวัดนนทบุรี อำเภอไทรน้อย เป็นบริษัทผลิตกระจกและอลูมิเนียม 19 ราย, อำเภอบางบัวทอง บริษัทผลิตอลูมิเนียม 6 ราย, จังหวัดสมุทรปราการ ที่อำเภอพระประแดง เป็นบริษัทผลิตไม้แขวนเสื้อพลาสติก จำนวน 26 ราย, อำเภอเมือง บริษัทผลิตผ้าจำนวน 8 ราย และบริษัทผลิตซอสปรุงรสจำนวน 8 ราย, จังหวัดปทุมธานี ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว เป็นบริษัทนำเข้าเครื่องจักรจำนวน 78 ราย และจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่อำเภออุทัย เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 7 ราย
ทั้งนี้แพทย์หญิงอภิสมัย ระบุอีกว่า พบบริษัทผลิตสื่อมีการติดเชื้อตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ค. แต่ไม่เป็นคลัสเตอร์ แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ของเดือน พ.ค. บริษัทยังมีการดำเนินการกิจกรรมอยู่ จนกระทั่ง 5 มิ.ย. พบว่ามีการติดเชื้อที่ฝ่ายรายการ เสื้อผ้า และเทคนิคตัดต่อ ซึ่งหากกรมควบคุมโรคลงสอบสวนโรคแล้วใน 1-2 วันจะมีการนำเสนอรายละเอียดอีกครั้ง
โดยในวันนี้ที่ประชุม ศบค. มีการหารือกันอย่างต่อเนื่องถึงปัจจัยการติดเชื้อ และการปรับมาตรการผ่อนปรน ผ่อนคลายที่จะถึงกำหนดในการนำเสนอ ศบค. ชุดใหญ่ในวันศุกร์นี้ (18 พ.ค.64) โดยขอให้ประชาชนติดตาม ซึ่งทางจังหวัดจะมีการปรับเข้มขึ้นในกิจกรรมกิจการบางพื้นที่ แลถบางจังหวัดอาจมีการผ่อนคลายเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้มีการนำเสนอโปรแกรมภูเก็ต sandbox โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานำเสนอการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องที่จะทำให้ประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบ สำหรับพื้นที่จังหวัดอื่น นอกจากนี้ยังมีการเสนอว่าจะมีกลุ่มจังหวัดอื่นเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมพื้นที่ เช่น เกาะ ภูเก็ต สมุย พีพี พะงัน ส่วนพังงา ชลบุรี กรุงเทพฯ ชะอำ หัวหิน บุรีรัมย์ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำหรือปานกลาง โดยศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจหรือ ศบศ. ได้เห็นชอบไปแล้วในวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา และมีการนำเสนอ ครม. เพื่อรับทราบในมติเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยใน มิ.ย.ได้มีการนำเสนอและหารือร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งประกอบไปด้วยอาจารย์แพทย์ โดยจะมีการตรวจความพร้อมตั้งแต่ก่อนเดินทางว่ามีข้อมูลการได้รับวัคซีนแล้วจริงหรือไม่มีเอกสารยืนยันครบถ้วนหรือไม่ พร้อมกับต้องมีการตรวจโควิด ผลเป็นลบใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง และเมื่อเดินทางมาถึงก็จะต้องมีการตรวจโควิด เช่นเดียวกัน โดยจะต้องตรวจในวันที่ 6 ,7 ,12 และ 13 ด้วย รวมถึงจะต้องมีการจัดสรรไม่ให้เกิดการการแออัด ต้องมีการเว้นระยะ และจัดการพื้นที่ให้มีความเหมาะสม พร้อมกับติดตั้งแอปพลิเคชั่น เดินทางไปยังโรงแรมด้วยพาหนะที่กำหนด ไม่ใช่เดินทางแบบอิสระ และต้องอยู่ภายในภูเก็ตให้ครบ 14 คืนเท่านั้น โดยเน้นย้ำว่าประชาชนภูเก็ตและประชาชนคนไทยทุกคนต้องปลอดภัย และขอให้กรมควบคุมโรค มีศูนย์บริหารจัดการตั้งศบค.ภูเก็ตเล็ก แต่ที่ประชุม ศปก.ศบค. ยังเป็นห่วงในความเข้าใจของประชาชน เรื่องความกังวลการจัดการนักท่องเที่ยว ซึ่งโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเป็นผู้นำเสนอ พร้อมกับย้ำว่าทั้งหมดนี้เป็นการนำเสนอเบื้องต้น โดยจะมีการนำข้อเสนอแนะจากในที่ประชุมไปปรับแก้ และพัฒนาให้มีจุดอ่อนน้อยที่สุด
ทั้งนี้ แพทย์หญิงอภิสมัย ระบุว่า หากพบการใช้วัคซีนแล้วแพ้อย่างรุนแรงจะไม่สามารถฉีดวัคซีนซ้ำเข็ม 2 ได้ และจะใช้วัคซีนที่มีการผลิตที่แตกต่างกันออกไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news