แก้รธน.เป้าหลักรื้อระบบเลือกตั้ง
แม้จะอยู่ในภาวะวิกฤต โควิด-19 ฝ่ายต่างๆ ทำงานได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะต้องให้ความสำคัญกับมาตรการด้านสาธารณสุข ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสังคมโดยรวมแต่เกมการเมืองยังคงเดิม และทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้นเมื่อวาระสภาผ่านไปแล้วครึ่งเทอม โดยเห็นได้จากการอภิปรายพรบ.งบประมาณที่ผ่านมา ที่แต่ละฝ่ายแสดงออกชัด ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันเหมือนก่อนรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน แม้จะเป็นเรื่องสำคัญ และต้องการเสียงที่เป็นปึกแผ่นมาก หากต้องการทำให้สำเร็จ แต่นับจากการคว่ำร่างครั้งก่อนในวาระ 3 หลังศาลวินิจฉัยแบบกว้างๆ ไว้ให้ก็ทำให้มีความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขที่หลากหลาย การดำเนินการก็เป็นไปในแบบคนละทิศคนละทางมากกว่าเดิม ประหนึ่งรัฐธรรมนูญ คือต้นตอของความขัดแย้งของบรรดานักการเมือง แบ่งแยกกันยื่นร่างแก้ไข รวมๆ แล้วเกือบ 20 ร่าง ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาวาระแรก ตามที่ประธาน ชวน หลีกภัย นัดหมายไว้ 22-24 มิ.ย.นี้
จะเห็นได้ว่า การยื่นร่างแก้ไขของบรรดา ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่ม แต่ละร่าง ก็มีจำนวนไม่เท่ากัน และมีภาค ประชาชน 1 กลุ่ม
ร่วมเสนอ โดยมีประเด็นหลักที่เป็นจุดร่วมเหมือนกันทั้ง 3 กลุ่มคือเรื่องแก้ไข ระบบเลือกตั้ง กลับไปเป็น 2 ใบแบบเดิม และอาจเป็นเพียงเรื่องเดียว ที่จะประสบความสำเร็จในการแก้ไขครั้งนี้ ตามเงื่อนไข และข้อกำหนดมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ เพราะในประเด็นอื่นๆ หาก ส.ส.ทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาลมองไม่เหมือนกัน ก็เป็นไปได้ยากและที่สำคัญที่สุด ในประเด็นระบบเลือกตั้งที่ 3 ฝ่ายเห็นตรงกันนั้น ไม่กระทบกับ ส.ว.แม้แต่น้อย ต่างจากประเด็นที่มานายกฯ ตัดอำนาจการโหวตของ ส.ว. ก็น่าจะเป็นไปได้ที่มีจะ ส.ว.ร่วมโหวตให้อย่างน้อย 84 เสียง ในวาระ 1 และ 3 ได้
ดังนั้นเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้ นักการเมืองทั้งจากพลังประชารัฐ ที่ได้ประโยชน์จากรูปแบบปัจจุบันหรือกลุ่มเสียประโยชน์ อย่างเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ต่างมีเป้าหมายชัด คือรื้อระบบเลือกตั้ง เพื่อจะได้ไปต่อสู้กันใหม่ในกติกาที่แฟร์กว่าเดิม หรือในกติกาที่ฝ่ายตัวเองมองว่าจะได้เปรียบ และมีโอกาสชนะโดยไม่ต้องกังวลกับ ส.ว. เว้นแต่บรรดาวุฒิสมาชิก จะรู้สึกละอาย กระดาก และยอมตัดอำนาจตัวเองไปด้วยในการแก้ไขครั้งนี้ ฝ่ายการเมืองก็คงจะยิ้มกว้างยิ่งขึ้น ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่มีการหยิบยกมาจากซีกประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ที่หวังเรื่องสิทธิ และปากท้องประชาชนด้วย หากทำไม่ได้ก็เสมอตัวไม่เสียหายแต่หากทำได้ก็ถือเป็นกำไรเอาไว้เคลมเป็นผลงานตอนหาเสียงใหม่กันอีกที
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news