สธ.เผยขั้นตอนก่อนการกระจายวัคซีนทั่วประเทศ
สธ. เผย ขั้นตอนก่อนการกระจายวัคซีนทั่วประเทศ รับของที่สุวรรณภูมิ ตรวจสอบคุณภาพ (ซิโนแวค 1-2 สัปดาห์ แอสตราเซเนกา 3 วัน ก่อนส่งไปอังกฤษออกใบรับรองอีก 1 วัน) ก่อนส่งมายังกรมควบคุมโรคกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ ต่อไป
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยดำเนินการจัดสรร วัคซีน โควิด-19 โดยยึดตามนโยบายของ ศบค. และข้อมูลทางวิชาการในการจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายเชิงประชากร ซึ่งคิดจากตัวเลขที่แต่ละจังหวัดตั้งมาและปรับตามสูตรการคำนวณให้สอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ได้รับสำหรับขั้นตอนการจัดสรรวัคซีนเพื่อกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ
เริ่มต้นจากองค์การเภสัชกรรม ไปรับวัคซีนจากบริษัทที่สนามบินสุวรรณภูมิ และส่งตัวอย่างวัคซีนและเอกสารการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบสภาพของบรรจุภัณฑ์ จำนวน และอุณหภูมิที่ใช้ในการขนส่งวัคซีน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ การทดสอบคุณภาพและการวิเคราะห์คุณภาพของวัคซีนในห้องปฏิบัติการ จะดำเนินไปพร้อมกับการตรวจสอบเอกสารข้อมูลการผลิตและการควบคุมคุณภาพของผู้ผลิต (Summary Production Protocol) โดยวัคซีนซิโนแวค จะใช้เวลาในการตรวจสอบคุณภาพประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่มีโรงงานการผลิตอยู่ในประเทศไทย จะใช้เวลาในการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนเฉลี่ยประมาณ 3 วัน ซึ่งก่อนการอนุมัติให้กระจายวัคซีนของแอสตราเซเนกา ต้องส่งผลการตรวจสอบคุณภาพไปยังประเทศอังกฤษเพื่อทำการวิเคราะห์คุณภาพอีก 1 วัน
หลังจากผ่านการวิเคราะห์คุณภาพจากประเทศอังกฤษแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะทำการออกหนังสือรับรองรุ่นการผลิต (lot released) ให้กับองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นผู้นำเข้าวัคซีน และองค์การเภสัชจะส่งมอบวัคซีนให้กับกรมควบคุมโรคต่อไป
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค จะเป็นผู้จัดสรรและกระจายวัคซีนตามแผนการจัดสรรวัคซีนที่ ศบค. พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งก่อนการส่งมอบวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จะมีการวางระบบควบคุม ที่มีมาตรฐานตั้งแต่การตรวจสอบคุณภาพ การเก็บรักษา และการควบคุมอุณหภูมิของพื้นที่ปลายทางที่จะรับวัคซีนด้วย ส่วนการจัดฉีดวัคซีนทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการ
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ตามที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา ขอชื่นชมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจังหวัดภูเก็ต ที่ดำเนินการตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการให้บริการวัคซีนโควิด 19 เกิน 60% ของประชากรในพื้นที่ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ โดยกลุ่มที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม คือผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป และแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยว แรงงานในธุรกิจอื่นๆ แรงงานต่างชาติ และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งทางภูเก็ตไม่ทอดทิ้งและได้บริการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มแรกๆ โดยทางศูนย์ฉีดวัคซีนมีการจัดเตรียมรถกอล์ฟและวิลแชร์ไว้บริการ ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ตมีจำนวนประชากรประมาณ 547,584 คน และมีเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน จำนวน 383,308 คน หรือ 70% ของประชากรในพื้นที่ โดยแผนการฉีดวัคซีนจะต้องฉีดเข็มที่ 1 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน และฉีดเข็มที่ 2 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม โดยข้อมูลการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะภูเก็ต ณ วันที่ 16 มิ.ย. 64 มีผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 เข็ม จำนวน 346,855 คน (ร้อยละ 63.3) ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม จำนวน 165,439 คน (ร้อยละ 30.2) และจำนวนประชากรคงเหลือที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เหลือเพียงจำนวน 119,732 คน
ส่วนในเรื่องการเตรียมพร้อมในจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการโดยประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อเตรียมเปิดพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยว อาทิ การปรับปรุงภูมิทัศน์ การดูแลรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การประเมินสถานประกอบการเพื่อให้สัญลักษณ์ SHA
และเมื่อบุคลากรของสถานประกอบการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จะได้รับสัญลักษณ์ SHA+ ซึ่งขณะนี้มีสถานประกอบการ โรงแรมจำนวน 280 แห่ง ได้รับสัญลักษณ์ SHA+ แล้ว ซึ่งการจัดเตรียมระบบความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวของภูเก็ต Phuket Sandbox ถือว่าเป็นแบบอย่างความร่วมมือที่มีการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ก่อนการเดินทางเข้าประเทศ การเข้าพัก การท่องเที่ยวและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ จนถึงการเดินทางออกจากจังหวัด เพื่อเป็นต้นแบบให้จังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ต่อไป สำหรับการเฝ้าระวังติดตามจำนวนผู้ป่วยในจังหวัดภูเก็ต หากพบพบผู้ป่วยเกิน 13 รายต่อวัน อาจจะต้องพิจารณายกเลิกแผนการดำเนินงาน Phuket Sandbox
ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงาน Phuket Sandbox ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 ก.ค. 64 นี้ โดยมีเกณฑ์พิจารณา ดังนี้ 1.ชาวต่างชาติต้องได้รับวัคซีนครบโดส อย่างน้อย 14 วันก่อนการเดินทาง และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน 2.ต้องเป็นผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงต่ำ กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องมากับผู้ปกครองที่ได้รับวัคซีนแล้ว 3.ต้องมีเอกสารการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ผลไม่พบเชื้อไม่เกิน 72 ชั่วโมง และต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้ออีก 3 ครั้งในประเทศไทย ได้แก่วันที่เดินทางมาถึง วันที่ 7 และ 14 โดยโรงพยาบาลคู่สัญญา 4.ต้องเดินทางถึงที่พักด้วยรถโรงแรมและรับการตรวจเชื้อ ไม่อนุญาตให้ออกนอกห้องจนกว่าผลการตรวจไม่พบเชื้อ จึงจะอนุญาตให้ท่องเที่ยวภายในจังหวัดภูเก็ตได้ เมื่อครบ 14 วัน จึงจะสามารถเดินทางไปเที่ยวต่อยังจังหวัดอื่นๆ ได้ โดยแนวทางดังกล่าวถือเป็นต้นแบบการส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม และเป็นไปตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอ ศบค. เห็นชอบ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news