ครม. เห็นชอบแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมสำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบ แนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐปี 2560 ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม เพื่อสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างครอบคลุมทุกโครงการจัดซื้อจัดจ้างในทุกหน่วยงานของรัฐ
สำหรับแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม เป็นการจัดทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการและผู้ประกอบการที่จะเข้ายื่นข้อเสนอกับหน่วยงานของรัฐในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และให้มีผู้สังเกตการณ์ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือ ประสบการณ์ที่จำเป็นต่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ
ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐได้รายงานว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทย เห็นได้จากผลคะแนนดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยที่ยังไม่ดีขึ้น โดยอยู่ในอันดับที่ 104 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 10 ประเทศกลุ่มอาเซียน
อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ไม่ได้จำกัดเพียงการการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐภายใต้กฎหมายอื่นด้วย
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งที่ไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ หรือมีลักษณะการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น เช่น โครงการที่มีลักษณะร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือPPP ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนพ.ศ.2562 เป็นต้น ต้องนำข้อตกลงคุณธรรมไปกำหนดใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นหน่วยงานของรัฐ จะช่วยส่งผลให้คะแนนดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยมีอันดับที่ดีขึ้น
ครม.อนุมัติต่ออายุหนังสือประจำเรือประมงสำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือ ออกไปอีก 1 ปี นับแต่หนังสือคนประจำเรือเดิมสิ้นอายุ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ซึ่งเป็นการต่ออายุหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือ ตามมติครม.เมื่อวันที่ 31 มี.ค.63 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่หนังสือคนประจำเรือเดิมสิ้นอายุ โดยแรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานบนเรือประมงต่อไป จะต้องยื่นคำขอตามระยะเวลาที่กรมประมงประกาศกำหนด
ขณะเดียวกัน ครม.ยังได้อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการยกเว้นข้อห้ามไม่ให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นการกำหนดยกเว้นให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติที่หนังสือคนประจำเรือมีระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดลง แต่ไม่ได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรสามารถมายื่นขอต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ เพื่ออยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวและทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเลได้
ทั้งนี้ ครม.ได้เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้ กรมประมงทำหน้าที่ต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ, กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสุขภาพ และครอบคลุมถึงการตรวจโควิด-19 พร้อมทำประกันสุขภาพของคนต่างด้าว, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดทำสัญญาจ้างและตรวจสอบสัญญาจ้างของคนต่างด้าว, สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรกับคนต่างด้าว และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล และกรมการปกครอง ต่ออายุบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหรือบัตรสีชมพู
ครม.อนุมัติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ รวม 5 คน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ รวม 5 คน ดังนี้
พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการ , นายสมสิทธิ์ มูลสถาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หรือด้านการวิจัย การพัฒนา และนวัตกรรม, นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ หรือบริหารธุรกิจ, พล.ต.อ. ชัยยง กีรติขจร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย หรือทรัพยากรบุคคล และนายมนัส แจ่มเวหา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน การบัญชี และการงบประมาณ การตรวจสอบประเมินผล และการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.64
ครม.อนุมัติแต่งตั้ง “เกศทิพย์” เป็นโฆษก ศธ. แทนตำแหน่งว่าง
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอการแต่งตั้งโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (5 ม.ค.59) ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทุกกระทรวงแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่โฆษกกระทรวงอย่างเป็นทางการ แล้วแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีรวบรวมรายชื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ] เนื่องจากนายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการลาออกจากตำแหน่งโฆษก ดังนั้น เพื่อให้การประชาสัมพันธ์เผยแพร่นโยบายรัฐบาล นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตลอดจนผลการดำเนินงานของกระทรวงเป็นไปอย่างคล่องตัว จึงได้แต่งตั้ง นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ตรวจราชการ ศธ. เป็นโฆษก ศธ. ซึ่ง ศธ. ได้มีคำสั่งที่ สป 389/2564 เรื่อง แต่งตั้งโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 4 มิ.ย.64 ด้วยแล้ว
ครม.เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติปี 2564-2565 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนงาน โครงการ ที่มีความสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติปี 2564-2565 ตามที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนงาน โครงการ ที่มีความสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ประเด็นยุทธศาสตร์ และตัวชี้วัดความสำเร็จของของแผนยุทธศาสตร์ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564-2565
ทั้งนี้ตามแผนฯจะมี 6 ยุทธศาสตร์ประกอบด้วย ขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่การยอมรับการเป็นสังคมพหุลักษณ์และมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและยั่งยืนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ, พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของคนในชาติด้วยการเรียนรู้ภาษาที่หลากหลาย, ส่งเสริมการใช้ภาษาไทยในฐานะภาษาประจำชาติและปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยให้เป็นไปตามธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของมนุษย์
รักษา สืบทอดการใช้ภาษาท้องถิ่น หรือภาษาแม่ทั้งในชีวิตประจำวันและในระบบการศึกษา, พัฒนาทักษะและความสามารถทางด้านภาษาเพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และส่งเสริมการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยและสื่อเพื่อการสื่อสารการดำรงชีวิตและรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับกลุ่มคนด้อยโอกาส
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฯ คือ สร้างความรู้ ความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญและพร้อมเข้าร่วมในการผลักดันแผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ, เสริมสร้างบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาในการจัดทำแผนปฏิบัติการในระดับต่างๆ ที่บูรณาการเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติ, สร้างความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , จัดทำแผนงานการจัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วม, สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนแผนของภาคีการพัฒนาต่างๆ และ ติดตามประเมินผลแผนปฏิบัติการด้านนโยบายภาษาแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง
ครม. อนุมัติการขยายระยะเวลามาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6 มาตรการที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 63 ขยายไปถึง 31 ธ.ค. 66
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม.อนุมัติการขยายระยะเวลามาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6 มาตรการที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 63 ขยายไปถึง 31 ธ.ค. 66 ประกอบไปด้วยมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุน ประกอบธุรกิจลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 0.1 ลดภาษีนิติบุคคลเหลือร้อยละ3ของรายได้สุทธิ, มาตรการภาษีสนับสนุนการติดตั้งระบบ CCTV นำค่าใช้จ่ายมาหักรายจ่าย 2 เท่า, มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน ในทรัพย์สินของกิจการ โดยจะสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า, มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่หรือ New Start Up โดยจะมีการยกเว้นภาษีให้กับกลุ่ม New Start Up เป็นระยะเวลา 5 รอบ(ระยะเวลาบัญชี), มาตรการภาษี เพื่อส่งเสริม บุคลากรผู้มีความสามารถสูง นอกพื้นที่ไปทำงานในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะมีการลดอัตราภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาเดือนร้อยละ 3 ของรายได้พึงประเมิน, มาตรการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างกิจการที่มีศักยภาพนอกและในท้องที่ โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน สามารถหักรายจ่ายเงินลงทุน ได้ไม่เกิน 2 เท่า
ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ประมาณการสูญเสียรายได้จาก 6 มาตรการทางภาษีถึง 2,250 ล้านบาท แต่จะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้กับกิจการที่ตั้งอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลดต้นทุนและสร้างความเชื่อมั่น สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่
ครม.เห็นชอบปรับเกณฑ์ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโควิด -19 ให้สอดคล้องปัจจุบัน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคโควิด -19 ฉบับที่ 4 ซึ่งเป็นการปรับปรุงรายละเอียดของฉบับก่อนหน้านี้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับปัจจุบันที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง รวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น รวมถึงไม่ครอบคลุมถึงบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายบางรายการที่มีความจำเป็นต้องใช้กับผู้ป่วยโควิด -19
สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ปรับปรุงใหม่มีรายละเอียดที่สำคัญ อาทิ ค่าห้องและค่าอาหารทั้งหอผู้ป่วยวิกฤตและห้องแยกโรควันละ 6,250 บาท, ค่าบริการพยาบาลทั่วไปไอซียูวันละ 7,400 บาท, ค่าบริการแพทย์ขณะส่งผู้ป่วยด้วยรถพยาบาลครั้งละ 2,000 บาท, ค่ารถยนต์รับส่งต่อผู้ป่วยจากบ้านหรือโรงแรมไป-กลับครั้งละ 875 บาท, ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดโรคชุดละ 13,750 บาท เพิ่มข้อความ “ยา Remdesivir 100 mg inj. ให้เบิกจากกระทรวงสาธารณสุข” เป็นต้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news