วัคซีนไฟเซอร์(Pfizer) ดีไหม ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร เข้าไทยไหม สรุปทุกอย่างไว้แล้ว
วัคซีนไฟเซอร์(Pfizer) กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงของประเทศไทยถึงการนำเข้าของวัคซีน อย่างไรก็ตามใครที่อยากติดตามข่าว ติดตามได้ที่ ไอ.เอ็น.เอ็น. โดยในครั้งนี้จะชวนทุกคนมาดูกันว่า วัคซีนไฟเซอร์ ประสิทธิภาพดีไหม เข้าไทยไหม มีแนวโน้มจะฉีดให้ใครบ้าง โดยขอสรุปเป็นข้อมูลง่ายๆให้ทุกคนได้อ่านกัน
ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์(Pfizer)
วัคซีน : วัคซีนไฟเซอร์ ชื่อทางการ BNT162b2
ประเทศผู้ผลิต : สหรัฐอเมริกา
บริษัทที่ผลิต : Pfizer จับมือกับ BioNTech
ประเภทวัคซีน : mRNA
อายุผู้ฉีด : 16 ปีขึ้นไป
การฉีด : 2 โดส ห่างกันราว 21-28 วัน
การรับรอง : WHO รับรองเมื่อ 31 ธันวาคม 2563 / อย. ขึ้นทะเบียน 24 มิถุนายน 2564
ประสิทธิภาพ
- ป้องกันความรุนแรงของโรค 100%
- ป้องกันการติดเชื้อมีอาการ 94%
- ป้องกันการเสียชีวิต 98%-100%
- ป้องกันการติดโรค 96.5%
ประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์อื่นๆ
มีงานวิจัยระบุได้ว่ามีประสิทธิภาพป้องกันต่อสายพันธุ์อื่นๆได้
ราคา : รัฐบาลจัดหา
ผลข้างเคียง
- อาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีด
- อาจมีอาการไข้ ปวดหัว
- ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น คลิ่นไส้
รายละเอียดเพิ่มเติม
mRNA คืออะไร?
- เป็นเทคโนโลยีแบบใหม่ mRNA เป็นสารพันธุกรรมโมเลกุล คล้ายหนามของเชื้อไวรัส หนามของไวรัสมีหน้าที่จับเซลล์ในร่างกายทำให้ติดเชื้อ
- mRNA มีไขมันอนุภาคนาโนห่อหุ้มอยู่ เพื่อป้องกันการย่อยสลายจากเอนไซม์
- หลังจากฉีดวัคซีน mRNA เข้าไป เซลล์ในร่างกายจะกินไขมันดังกล่าว ทำให้เซลล์ผลิตสารโปรตีนที่คล้ายหนามของไวรัส แล้วโปรตีนก็จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- ภูมิคุ้มกันก่อให้เกิดการสร้างแอนติบอดีขึ้น แล้วทำให้ร่างกายเรียนรู้ว่าเชื้อจะกลายพันธุ์ยังไง วัคซีนประเภท mRNA เลยมีประสิทธิภาพต่อเชื้อที่กลายพันธุ์
ประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์ใหม่
มีรายงานหลายชุดแต่โดยรวมชี้ว่าสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของ โควิดสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ได้ อย่างงานที่เผยแพร่ทาง the new england journal of medicine ชี้ว่า อังกฤษ 89.5% แอฟริกาใต้ 75% หรืองานวิจัยของ หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ ก็ชี้ว่า ไฟเซอร์ มีประสิทธิภาพ 88% ในการป้องกันการป่วยแบบมีอาการจากไวรัส เดลต้าหรืออินเดีย
ผลข้างเคียงของวัคซีนไฟเซอร์
อาการข้างเคียงของวัคซีนไฟเซอร์ชนิดไม่รุนแรง
- มีไข้ หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวด แสบตรงบริเวณที่ฉีด
อาการข้างเคียงของวัคซีนไฟเซอร์ที่รุนแรง
- ชาตามร่างกาย
- เวียนศีรษะ
- หมดสติ
มีรายงานจากสหรัฐอเมริกาพบคนที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงอยู่ที่ 4.5 รายต่อ 1 ล้านโดส
*ที่ประเทศญี่ปุ่นมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน ไฟเซอร์ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอนว่าเป็นเพราะวัคซีนหรือไม่
อย่างไรก็ตามทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ก็ใช้วัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นาเป็นหลัก เนื่องจากประสิทธิภาพที่สูงในการต่อต้านการติดโควิดทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ใหม่
วัคซีนไฟเซอร์ เหมาะกับใคร
- ผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
- ผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุข และมีโอกาสสัมผัสรับเชื้อมากกว่าคนอื่น (เลยมีการเรียกร้องให้นำเข้ามาเพื่อกระตุ้นภูมิให้กับบุคลากรทางการแพทย์แนวหน้า)
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลให้อาการรุนแรงหากติดเชื้อโควิด 19 เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหอบหืด โรคปอด โรคตับ โรคไต และโรคติดเชื้อเรื้อรังอื่นๆ
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ควรได้รับวัคซีนหลังจากปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลแล้วเท่านั้น
- ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV เพราะมีโอกาสเสี่ยงสูง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
- ผู้ที่เคยติดโควิด 19 มาแล้ว อาจรับวัคซีนไฟเซอร์หลังจากติดโควิด 19 มาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน
- สตรีที่กำลังอยู่ระหว่างให้นมบุตร โดยเฉพาะหากเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านสาธารณสุข ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
- สตรีมีครรภ์ อาจควรรับวัคซีนหากแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่จะได้รับมีมากกว่าความเสี่ยง เช่น สตรีมีครรภ์มีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงเมื่อติดโควิด
วัคซีนไฟเซอร์เข้าไทยตอนไหน ใครได้ฉีด
มีการเสนอแนวทางฉีดให้กับ
- บุคคลอายุ 12-18 ปี
- กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน
- บุคลากรด่านหน้าเพื่อกระตุ้นภูมิ
อัพเดทล่าสุด มีมติให้ฉีดเข็มที่ 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์เพื่อกระตุ้นภูมิ และ ครม. ได้อนุมัติลงนามสัญญาการซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดสเพื่อนำเข้าประเทศไทย ภายในไตรมาสที่ 4 หรือภายในเดือน ตุลาคม 2564
วัคซีนไฟเซอร์หรือวัคซีนประเภท mRNA ดูจะเป็นทางออกหลักสำหรับประเทศไทยในตอนนี้เนื่องจากประสิทธิภาพในการป้องกันต่อโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้ดี จนมีการเรียกร้องให้นำเข้าโดยเร่งด่วนเพื่อให้บุคลากรทางแพทย์แนวหน้ามีภูมิต้านทาน หากมีอัพเดทอะไรเพิ่มเติม ทาง ไอ.เอ็น.เอ็น. จะอัพเดทให้ทุกคนทราบ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news