ATK ตรวจโควิดง่าย…ต้องรอเตียงนานมั้ย
จากปัญหาที่คนไทยตื่นตัว ต้องการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก จนมีภาพประชาชนนอนรอ ตากฝนรอ เพื่อจองคิวแบบข้ามวันข้ามคืน เพื่อให้ได้รับการตรวจเผยแพร่ไปทั่วโลก สะท้อนถึงปัญหาที่ภาครัฐจะต้องเร่งแก้ไข และในที่สุดกระทรวงสาธารณสุข ก็มีทางออก ด้วยการปลดล็อกอนุญาตให้สามารถตรวจอย่างง่ายด้วยอุปกรณ์ หรือที่เรียกกันในเบื้องต้นว่า “Rapid Test” ได้ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น “Antigen Test Ki” (ATK)
ในเวลาต่อมา โดยนายแพทย์ เกียรติภูมิ วงศ์รวิตร ปลัดกระทรวงสาธารณสุขระบุในระยะแรกอุปกรณ์ตรวจอย่างง่ายนี้จะใช้กับสถานพยาบาลก่อน และจะขยายไปยังประชาชนตรวจด้วยตัวเองต่อไป ซึ่งเมื่อปลดล็อกให้ใช้ชุดตรวจอย่างง่ายได้ ก็นำมาซึ่งการค้าทันทีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ อัพราคาเป็นว่าเล่น ผ่านไปแค่ 48 ชั่วโมงหลังมีประกาศปลดล็อค ราคาทั้งแบบชิ้น และแบบชุดก็พุ่งขึ้นไป 2-3 เท่า จนมีคำถามกลับมาในโลกโซเชียลว่า รัฐกำลังผลักภาระให้กับประชาชนหรืออย่างไร จนร้อนถึง นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการอย.ต้องออกมาชี้แจงว่า ชุดตรวจ “Antigen Test Ki” ที่จะขยายให้ประชาชนตรวจเองนั้น มีช่องทางจำหน่ายคือสถานพยาบาล คลินิกเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์ และร้านขายยาที่มีเภสัชกร ไม่สามารถขายทางอินเทอร์เน็ตได้ โดยชุดตรวจที่มีการขึ้นทะเบียนแล้วมีเพียง 24 รายเท่านั้น
คำถามต่อมาเมื่อจะใช้เครื่องตรวจแบบง่าย คือ เรื่องของประสิทธิภาพ โดยยกเคสของ “สมรักษ์ คำสิงห์” อดีตนักมวยเหรียญทองโอลิมปิคที่ผลตรวจจากห้องแลปครั้งที่ 1 ผิดพลาดพบว่าติดเชื้อ แต่เมื่อตรวจซ้ำผลในครั้งที่ 2 และ 3 กลับไม่พบเชื้อ นั่นเอง เกี่ยวกับกรณีนี้ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้ความเชื่อมั่นว่า ชุดตรวจ “Antigen Test Ki” เป็นการหาองค์ประกอบไวรัส เก็บตัวอย่างเหมือนการทำ RT-PCR คือการแหย่จมูกถึงคอหอย แหย่ทางช่องปาก โพรงจมูกหรือใช้น้ำลาย และมีความแม่นยำใกล้เคียงกับ RT-PCR ถึง 90% กรณีที่เป็นบวก แต่กรณีเป็นลบหากเชื้อมีน้อยจะตรวจไม่พบ ผลลบจึงไม่ได้แปลว่าไม่มีเชื้อ ต้องตรวจซ้ำใน 3-5 วันอีกครั้ง ด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนมากนักว่า มาตราการที่ต่อเนื่องของกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล หลังเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้ “Antigen Test Ki” ตรวจหาเชื้อแล้ว และเมื่อมีผลเป็นบวก ภาครัฐจะดำเนินการรักษา หรือมีกระบวนการรับตัวผู้ป่วย เข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างไร เพราะหากตรวจพบเชื้อ แต่ไม่ได้รับการรักษา ต้องรอเตียงอยู่ที่บ้านก็คงไม่มีประโยชน์
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news