นายกฯ สั่งการเพิ่มศูนย์พักคอย กทม. เขตละ 1 แห่ง
นายกรัฐมนตรี สั่งการเซ็ตระบบ Home isolation ให้สมบูรณ์ พร้อมเร่งเพิ่มศูนย์พักคอยพื้นที่ กทม. อย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยตกค้าง หรือผู้ป่วยรอเตียงนาน ซึ่งส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยนั้นมีอาการหนักขึ้นจะดำเนินการอย่างไรนั้น ว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยในประเด็นดังกล่าว โดยได้สอบถามกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และตน ว่ามีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร โดยในขั้นต้นได้เร่งการคัดกรองหาผู้ติดเชื้อให้เป็นระบบ โดยระบบแรกที่จะนำผู้ป่วยเข้าไปคือระบบ Home isolation หรือการแยกกักที่บ้าน โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เซ็ตระบบให้สมบูรณ์โดยเร็ว แต่หากขณะนี้ยังไม่สมบูรณ์ให้มีการจัดตั้ง ศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มี 50 เขต แต่ขณะนี้ดำเนินการไปได้เพียง 20 เขต จึงต้องเร่งรัดให้ทุกเขตมีศูนย์พักคอยอย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง เพื่อให้ผู้ติดเชื้อหรือทราบว่าตัวเองติดเชื้อต้องการสถานพยาบาลหรือเตียง เมื่อไม่สามารถอยู่ในมาตรการ Home isolation ได้ ขอให้ติดต่อที่ศูนย์พักคอยเพื่ออย่างน้อยไม่ต้องคอยที่บ้าน แต่ให้คอยที่ศูนย์พักคอยเพื่อรอการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสนาม ไอซียูสนาม หรือโรงพยาบาลหลักตามอาการที่มีอยู่ ซึ่งหากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการเช่นนี้ ตนก็เชื่อว่าสถานการณ์ก็จะดีขึ้นกว่านี้ อาจจะไม่ได้ในทันที
อย่างไรก็ตาม ศปก.ศบค. ก็จะติดตามเรื่องนี้และแก้ไข ส่วนกรณีที่ไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้หรือติดต่อได้ยากนั้น ในอนาคตหากมีศูนย์พักคอยอยู่ที่เขตแล้ว ประชาชนที่อยู่ตามเขตต่างๆก็สามารถติดต่อที่เขตได้ไม่จำเป็นต้องเข้ามายังระบบ 1330, 1668 หรือ 1669 ยอมรับว่าการแก้ปัญหาในลักษณะนี้อาจไม่เกิดทันที แต่พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรับปากว่า อย่างน้อยในสิ้นเดือนนี้ทุกเขตจะต้องมีศูนย์พักคอยอย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง
นอกจากนี้ พล.อ.ณัฐพล ระบุถึงความเป็นไปได้ที่จะรวมสายด่วนเป็นหมายเลขเดียวแต่เพิ่มหลายคู่สาย ว่า ขอความเห็นใจ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่ว่าหน่วยงานเดียวมี 3 หมายเลข ซึ่งทั้ง 3 หมายเลขนั้นอยู่คนละหน่วยงาน แต่มาร่วมมือกัน และแต่ละหน่วยงานก็พยายามขยายคู่สายให้มากขึ้น แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เพียงพอ จึงต้องขออภัยประชาชน แต่การแก้ไขปัญหาขณะนี้พยายามขยายไปยังเขตหรือในจังหวัด อาจลงไปที่อำเภอจะยังคงใช้ 3 หมายเลขแต่ขยายคู่สายเพิ่มขึ้น และจะมีวิธีอื่นๆ ในระบบเพิ่มเติม
เลขา สมช. เผย นายกฯคุยสธ. ปรับแผนรองรับต่อการเปลี่ยนแปลง และความจำเป็นในการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.) กล่าวถึงการเจรจาหรือแบรนด์การส่งออกวัคซีน Astrazeneca จากประเทศไทยไปยังต่างประเทศ ว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี เชิญนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตนเอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือ ในเรื่องนี้ เพื่อปรับแผนรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ หรือปริมาณวัคซีนที่เข้ามาไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกันอยู่ โดยนายอนุทิน จะกลับไปพิจารณาและกลับมารายงานนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
เลขา สมช. ชี้ อาสาสมัครด้านสาธารณสุข สื่อมวลชน สามารถออกไปทำงานนอกสถานที่ได้ ยึดมาตรการเคร่งครัด
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.) กล่าวว่า แม้จะมีการล็อกดาวน์แต่ในส่วนของอาสาสมัครในการช่วยหาเตียงผู้ป่วย ถือเป็นการทำงานให้บริการด้านสาธารณสุข จึงผู้ที่ได้รับการยกเว้น และสามารถออกมาทำงานได้ เช่นเดียวกับสื่อมวลชน ก็ถือว่ามีความจำเป็นสามารถออกไปทำงานนอกสถานที่ได้ แต่เพื่อเป็นตัวอย่างของประชาชนขอให้สื่อมวลชนยึดมาตรการป้องกันโรค และเพื่อลดการแพร่เชื้อ
ส่วนหากอยู่ต่างจังหวัดและจำเป็นต้องเดินทางมาฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯจะต้องมีการขอเอกสารเพื่อขอเข้าพื้นที่ และสามารถเดินทางมาด้วยรถยนต์ส่วนตัวได้หรือไม่นั้น โดยปกติการฉีดวัคซีนจะฉีดในพื้นที่ใดพื้นที่เว้นแต่กรณีได้รับ ใบนัด ก็ขอให้แสดงหลักฐานการนัดต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามข้อกำหนด ซึ่ง ศบค. มีความห่วงใยหากหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงนี้ก็อยากให้หลีกเลี่ยง เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่เข้มต่ำกว่าเดินทางมาพื้นที่สีแดงเข้ม ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ส่วนหลักฐานในการเดินทางนั้นมีอยู่ 2 กรณี คือ หลักฐานเอกสาร และหากไม่มีเอกสารแสดง ก็สามารถเข้าไปกรอกแบบฟอร์มที่เว็บไซต์หยุดเชื้อเพื่อชาติ เพื่อรับคิวอาร์โค้ดแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด่านตรวจ และจะต้องตอบข้อซักถามจากเจ้าหน้าที่ด่านเพิ่มเติม ซึ่งอาจไม่สะดวกแต่จะต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจ เนื่องจากมีมาตรการคัดกรองเพื่อจำกัดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่จังหวัด
เลขา สมช. ขอบคุณประชาชนให้ความร่วมมือมาตรการเข้มงวด ขอเวลาอีก 14 วัน มั่นใจสถานการณ์จะคลี่คลายขึ้น
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยถึงความเดือดร้อนของประชาชน และตนได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่าที่ประชุม ศปก. ศบค.bได้แจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรุงเทพมหานคร ที่จะดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเยียวยา ซึ่งในส่วนของประชาชน นั้นศบค. ตระหนักว่า การเข้มข้นมาตรการขึ้น ทำให้ประชาชนเดือดร้อน จึงจำเป็นต้องขอความกรุณา ทุกภาคส่วนให้ช่วยกันให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามมาตรการที่ ศบค. กำหนด เพื่อให้มีเวลา 14 วันข้างหน้านี้มาตรการต่างๆ จะเกิดประสิทธิผล โดยเมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน จึงขอขอบคุณประชาชนในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ขอเวลาอีก 14 วัน หากมาตรการต่างๆ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี มั่นใจว่า สถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามจะมีการติดตามสถานการณ์ทุกวัน ซึ่งทุกรอบ 7 วัน จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง ตนขอขอบคุณประชาชนทุกคน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news