ซูเปอร์โพล จี้รบ.ออกมาตรการเยียวยาการศึกษา
ซูเปอร์โพล จี้รัฐบาลเร่งออกมาตรการเยียวยาด้านการศึกษาช่วงโควิด ลดค่าเทอม พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์การเรียน
ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง มาตรการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้านการศึกษาช่วงวิกฤตโควิด-19 กรณีศึกษานักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง บุคลากรการศึกษา และประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,094 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 – 24 กรกฎาคม 2564 เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นต่อมาตรการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนด้านการศึกษา พบว่า กว่าร้อยละ 80 ของทุกกลุ่มได้แก่ นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 85.5 ผู้ปกครองร้อยละ 81.2 บุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 81.8 และประชาชนทั่วไปร้อยละ 82.3 ต้องการให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการเยียวยาและแก้ปัญหาด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนเพิ่มเติม ช่วงวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้
เมื่อถามถึงเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชน พบว่า กลุ่มที่ต้องการให้รัฐบาลลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนมากที่สุดได้แก่ นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 87.1 รองลงมาคือผู้ปกครองร้อยละ 83.1 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 82.9
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความพอใจต่อรัฐบาลที่เห็นความสำคัญด้านการศึกษาช่วงวิกฤตโควิด-19 และอนาคตของเด็กและเยาวชน พบว่า ที่มากที่สุดคือ นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 67.7 รองลงมาคือ ประชาชนทั่วไปร้อยละ 63.3 และผู้ปกครองร้อยละ 62.6
ในขณะที่ บุคลากรทางการศึกษามีน้อยที่สุดคือร้อยละ 45.5 นอกจากนี้ ในเรื่องความพอใจต่อมาตรการช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ พบว่า
ที่มากที่สุดคือ นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 69.4 รองลงมาคือประชาชนทั่วไปร้อยละ 66.4 ผู้ปกครองร้อยละ 63.2 และน้อยที่สุดคือ บุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 45.5 ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ นักเรียนนักศึกษามีสัดส่วนมากที่สุดคือร้อยละ 87.1 รองลงมาคือ ประชาชนทั่วไปร้อยละ 83.6 ผู้ปกครองร้อยละ 81.6 และบุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 72.7 ต้องการให้รัฐบาลช่วยลดภาระของนักเรียนนักศึกษาเพิ่มเติมอีก ในการแบ่งชำระค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้านการศึกษา
นอกจากนี้ นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.9 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 79.6 ผู้ปกครองร้อยละ 77.3 และบุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 63.6 ต้องการให้จังหวัดพื้นที่สีเขียว ทำพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนนักศึกษาได้ พ่อแม่ผู้ปกครองไปทำงานประกอบอาชีพได้ด้วยการควบคุมโรคเข้มสูงสุด
เมื่อถามถึง ความต้องการเร่งด่วนพิเศษช่วยเหลือด้านการศึกษาพบว่า สัดส่วนมากที่สุดคือ นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 85.5 รองลงมาคือ ผู้ปกครองร้อยละ 85.4 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 84.5 และบุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 81.8 ต้องการให้มีการฉีดวัคซีนให้นักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา
นอกจากนี้ สัดส่วนที่มากที่สุดเช่นกันคือ นักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 88.7 รองลงมาคือ บุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 88.6 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 82.7 และผู้ปกครองร้อยละ 82.4 ต้องการให้รัฐบาลและภาคเอกชนด้านการสื่อสาร ช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาเรื่องอุปกรณ์สื่อสาร ค่าบริการ การเรียนออนไลน์ ซิมการ์ด คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต มือถือ และอื่น ๆ และเมื่อสอบถามถึงความต้องการให้ลดค่าหอพัก ค่าผ่อนชำระที่พักอาศัยและอื่น ๆ ให้เด็กนักเรียนนักศึกษา พบว่า สัดส่วนที่สูงสุดได้แก่ นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 90.3 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 86.3 ผู้ปกครองร้อยละ 80.9 และบุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 79.5 ตามลำดับ
ที่น่าเป็นห่วงคือ ที่มากที่สุดได้แก่ นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 87.1 บุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 77.3 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 70.4 และผู้ปกครองร้อยละ 70.0 ต้องการให้มีจิตแพทย์ ที่ปรึกษาประชาชนระบายความเครียด นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปมีสัดส่วนสูงที่สุดคือร้อยละ 85.4 รองลงมาคือ นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 81.7 ผู้ปกครองร้อยละ 79.7 และบุคลากรทางการศึกษา ร้อยละ 76.7 ระบุ ขอให้ดูแลการศึกษาและคุณภาพชีวิตของเด็กยากจนพิเศษ
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความพอใจต่อการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา พบว่า ผู้ปกครองร้อยละ 61.5 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 60.5 นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 55.7 และบุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 54.5 พอใจมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่กำหนด ว่า ส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาทให้ลดค่าธรรมเนียม ค่าเล่าเรียนครึ่งหนึ่ง หรือ ร้อยละ 50
นอกจากนี้ ผู้ปกครองร้อยละ 56.1 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 53.5 นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 53.2 และบุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 47.7 พอใจมาตรการที่กำหนดว่า ถ้าอยู่ระหว่าง 50,001 – 100,000 บาทให้ลดร้อยละ 30 ในขณะที่ความพอใจต่อมาตรการที่กำหนดว่า ตั้งแต่ 100,001 ขึ้นไปให้ลดร้อยละ 10 ผลสำรวจพบว่า สัดส่วนของความพอใจลดลงกว่าทุกมาตรการ ได้แก่ นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 50.0 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 48.3 ผู้ปกครองร้อยละ 48.2 และบุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 43.2
และเมื่อถามถึงความพอใจต่อมาตรการที่ระบุ การศึกษาเอกชนจ่ายให้หัวละห้าพันบาทนั้น ผู้ปกครองร้อยละ 60.3 พอใจ รองลงมาคือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 58.1 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 56.2 และบุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 45.5 อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองร้อยละ 77.0 ประชาชนทั่วไปร้อยละ 66.3 นักเรียนนักศึกษาร้อยละ 64.5 และบุคลากรทางการศึกษาร้อยละ 61.4 ระบุ ให้ลดการเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่ได้เปิดการเรียนการสอน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news