ครม. มอบหน่วยงานหารือข้อเรียกร้องนร.-นศ.
ครม. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียนนักศึกษา
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรการหารือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. เสนอแนะเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ของ กสม. มีดังนี้คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรแสดงออกที่ชัดเจนถึงการเคารพเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และควรคำนึงถึงความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ถือว่า “การมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก การจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น” อย่างเคร่งครัด การบังคับใช้กฎหมายหรือปฏิบัติการใดๆจึงควรเป็นไปในแนวทางการเปิดโอกาสให้มีการใช้สิทธิและเสรีภาพเป็นหลัก ซึ่งอาจนำหลักการสำคัญสำหรับการบริหารจัดการการชุมนุมอย่างเหมาะสม 10 ประการ โดยจัดทำโดยผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่มอย่างสันติมาเป็นแนวทางให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้จัดการชุมนุม ผู้ชุมนุม ระหว่างการชุมนุมและที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งให้ความคุ้มครองเสรีภาพ โดยอาจบังคับใช้กฎหมายเฉพาะว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะเป็นหลักแทนการใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ครม.ควรดำเนินการให้สังคมโดยรวมเชื่อมั่นว่า ความคิดเห็นและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาของผู้ชุมนุมจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังและไม่ล่าช้า รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่และช่องทางในการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
และ กสม. ขอสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของ ครม. และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการสื่อสารต่อสาธารณะให้รับทราบและเข้าใจอย่างชัดแจ้งและต่อเนื่องเกี่ยวกับการดำเนินการดูแลความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และขอสนับสนุนให้มีคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มในทุกพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยการพูดคุย รับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างทั่วถึง โดยมีคนกลางที่ได้รับการยอมรับทำหน้าที่เป็นผู้ประสานการรับฟัง เพื่อเป็นหลักประกันว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมและทุกฝ่ายจะได้รับการรับฟังและร่วมกันพิจารณาหาทางออกที่จะนำไปสู่การยุติความขัดแย้งอย่างสันติวิธีโดยเร็ว
คณะรัฐมนตรี ไฟเขียวแนวทางการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ให้มหาดไทยดำเนินการต่อ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID ด้วยการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service – FVS) และอนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการพัฒนา และจัดให้มีระบบ FVS และดำเนินการให้บริการกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง
พร้อมทั้งให้สำนักงบประมาณให้การสนับสนุนงบประมาณกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและจัดทำระบบFVS โดยครอบคลุมการพัฒนาและติดตั้งซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การจัดหาอุปกรณ์และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสำหรับการให้บริการและการทดสอบประสิทธิภาพและความมั่นคงปลอดภัยของระบบ รวมถึงการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐาน และข้อตกลงการให้บริการของระบบ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นสำหรับการบริหารงานและการให้บริการ และให้กระทรวงมหาดไทย หรือ ดีอีเอส รายงานการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ในส่วนของการพัฒนาระบบ Digital ID ให้ ครม. ทราบเป็นระยะ
ส่วนระบบ FVS ที่กระทรวงมหาดไทยจะพัฒนาขึ้น เป็นระบบที่จะใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (Digital ID) ของผู้รับบริการระบบหนึ่ง โดยมีกลไกการทำงานที่ใช้เทคโนโลยีในการระบุตัวบุคคลด้วยการเปรียบเทียบภาพใบหน้าที่ผู้รับบริการถ่ายส่งเข้าระบบกับฐานข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ โดยใช้ AI ที่มีความแม่นยำตามเกณฑ์มาตรฐานสากล และแจ้งผลในรูปแบบร้อยละของความถูกต้องของภาพถ่ายกับฐานข้อมูลภาพใบหน้า
ครม.รับทราบผลการดำเนินงานนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของ กฟน. ดำเนินการแล้วเสร็จ 48.6 กิโลเมตร
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปี 2563 โดย กฟน.มีแผนดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร มีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2527-2567 รวม 8 แผน ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 48.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย โครงการถนนสีลม ปทุมวันและจิตรลดา 16.2 กิโลเมตร, โครงการพหลโยธิน พญาไทและสุขุมวิท 24.4 กิโลเมตร และโครงการปทุมวัน จิตรลดาพญาไท และบางส่วนของโครงการนนทรี 8 กิโลเมตร โดยยังมีแผนงานและโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีกรวมระยะทาง 187.5 กิโลเมตร
ทั้งนี้ในปี 2563 กฟน.มีแผนการเบิกจ่ายจำนวนเงิน 3,866.121 ล้านบาท โดย ณ เดือน ธันวาคม 2563 ได้มีการเบิกจ่ายเงินรวม 2,312.608 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 59.82 ของแผนการเบิกจ่าย ซึ่ง กฟน. ระบุว่าจะติดตามเร่งรัดการดำเนินการตามแผนงาน ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง พบอุปสรรคในการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบเช่น การเพิ่มระดับความลึกของบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อหลบอุปสรรค ทำให้ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนด ซึ่งกฟน.ได้พิจารณาปรับแผนการดำเนินการโดยเน้นให้เร่งรัดระยะเวลาในการก่อสร้างให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนด
ครม.รับทราบผลการประชุม กพศ. เห็นชอบส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ว่าที่ประชุมรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ กพศ. ที่มีมติเห็นชอบในหลักการการกำหนดพื้นที่และแนวทางการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตะวันตก และภาคใต้ พร้อมมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ พิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่ของแต่ละระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ กิจการเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ แล้วนำเสนอ กพศ. ต่อไป
นอกจากนี้ กพศ. ยังได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง
รวมทั้งเห็นชอบให้เทศบาลตำบลสำนักขาม ใช้พื้นที่ประมาณ 19 ไร่ ในที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาของแปลงที่จะจัดให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เช่าเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลากับด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 พร้อมทั้งเห็นชอบให้เปิดประมูลสรรหาผู้ได้รับสิทธิพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และมอบหมายให้กรมธนารักษ์ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ครม.มติแต่งตั้ง “ศิริพร” เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเกษตร พร้อมแต่งตั้ง ประเวทย์ นั่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คกก.สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นางสาวศิริพร บุญชู เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเกษตรในคณะกรรมการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.64 เป็นต้นไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เสนอแต่งตั้ง นายประเวทย์ ตันติสัจจธรรม ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล แทนผู้ที่ลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.64 เป็นต้นไป และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
อย่างไรก็ตามในวันนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่มีการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายในกระทรวงมหาดไทย ในตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัด
ครม.มติแต่งตั้ง “เก็จพิรุณ” ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการพาณิชย์ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ พร้อมแต่งตั้ง “ดนุช” เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เสนอแต่งตั้ง นางสาวเก็จพิรุณ เกาะสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพาณิชย์ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. 64 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายดนุช ตันเทอดทิตย์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news