สธ. แจงแบ่งวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสให้ 4 กลุ่ม เน้นบุคลากรทางการแพทย์ – ปัดข่าวนำฉีดให้กลุ่ม VIP
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 (Pfizer) กล่าวถึงการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ โดยยืนยันว่า การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับบริจาคจาก รัฐบาลของสหรัฐอเมริกา รอบนี้ จำนวน กว่า 1.5 ล้านโดส แบ่งออกเป็น 4 ส่วน
1. จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และผู้ปฏิบัติงาน ดูแล ผู้ป่วยโควิดโดยตรงและการทำงานมีความเสี่ยง ทั่วประเทศจำนวน 7 แสนโดส
2. จัดสรรให้จังหวัดที่มีการระบาดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยในวันที่ สธ.จัดสรรให้คือ 13 จังหวัด รวม 640,5000
3. จัดสรรให้กระทรวงการต่างประเทศ สำหรับ จัดทำบัญชีรายชื่อชาวต่างชาติ หรือ ชาวไทย ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ จำนวน 1.5 แสนโดส ซึ่ง กระทรวงการต่างประเทศ จะต้องจะจัดทำบัญชี รายชื่อของบุคคล ส่งมาให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทาง สธ. จะได้แจ้งไปยังหน่วยบริการ ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ให้กับรายชื่อที่ กระทรวงการต่างประเทศ เสนอมา
4. เก็บไว้สำหรับการศึกษาวิจัยจำนวน 5000 โดส และ อีก 3450 โดส เก็บไว้เพื่อใช้ในการควบคุมการระบาดของ สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งอาจจะใช้วัคซีนตัวอื่นได้ยาก
ทางด้าน นพ.โอภาส การกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงรายละเอียดของการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม ว่า วันนี้ มีการส่งมอบ วัคซีนไฟเซอร์อย่างเป็นทางการ ที่ ทำเนียบรัฐบาล จำนวน 1,503,450 โดส ซึ่งเมื่อวานที่ผ่านมา มติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 4/2564 ให้คำแนะนำการให้วัคซีนโควิด-19 ของ ไฟเซอร์ ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีหลักเกณฑ์ ว่า บุคลากรที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือ วัคซีนซิโนฟาร์มครบ 2 เข็ม แล้ว ให้กระตุ้นด้วย ไฟเซอร์ 1 เข็ม ส่วนบุคลากรที่ได้รับวัคซีนใดๆมาแล้วเพียง 1 เข็ม พิจารณาให้ไฟเซอร์เป็น เป็นเข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดส ตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก // สำหรับบุคลากรที่ไม่เคยได้รับวัคซีนใดๆ มาก่อน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ // และบุคลากรที่เคยติดเชื้อโควิด 19 และไม่เคยได้รับวัคซีน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยมีระยะห่างจากที่พบการติดเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าว มีกลุ่ม VIP อ้างว่าได้รับการวัคซีนไฟเซอร์ แล้ว ในเรื่องนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า วัคซีนไฟเซอร์เพิ่งจัดส่งมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กค. และขณะนี้ยังคงเก็บรักษาไว้ที่คลังเก็บวัคซีน ยังไม่ได้กระจายออกไปที่ใด ดังนั้น กระแสข่าวดังกล่าว ยืนยันว่าไม่ใช่ วัคซีนไฟเซอร์ ที่ สธ.ได้รับมาในรอบนี้ อย่างแน่นอน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news