นายกฯ เป็นประธานเปิด จุดคัดกรองผู้ป่วยโควิด รพ.สนามครบวงจร ปตท. ยันเร่งคัดกรองเชิงรุก ฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด จุดคัดกรองผู้ป่วยโควิด -19 และโรงพยาบาลสนาม ครบวงจรของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ผ่านระบบ Video Conference) ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ของประเทศ
ร่วมเป็นพลังต่อลมหายใจของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน กลุ่ม ปตท.ได้สนับสนุนความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในภาวะวิกฤติโควิด-19 แล้วรวมเป็นงบประมาณจำนวนกว่า 1,700 ล้านบาท
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้เร่งดำเนินการมาตรการ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย โดยมีการทำงานและมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งโครงการดำเนินการตรวจเชิงรุกให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง เพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกในการค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในชุมชนให้รวดเร็วและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ การเปิดช่องทางการเข้าถึงการรักษา การกำหนดแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและการดูแลผู้ป่วยในชุมชน รวมทั้งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามต่างๆ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีจำนวนมากเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งได้มีการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลสนาม ให้สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงให้มากขึ้น
ซึ่งที่ผ่านมาขอขอบคุณในความร่วมมือของภาคเอกชน ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในด้านต่างๆ ซึ่งเราจะทำวิกฤติให้เป็นโอกาส และต้องทำทั้ง 3 ด้านควบคู่กัน ทั้งความปลอดภัยของประชาชนเศรษฐกิจ และสุขภาพ ที่ต้องเดินไปด้วยกัน เรามีลมหายใจเดียวกัน เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกันในช่วงเวลาวิกฤติเราได้เห็นถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐเจ้าหน้าที่ภาคเอกชนธุรกิจต่างๆก็เข้ามาร่วมระดมสรรพกำลังในการช่วยรัฐบาล
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้งานตามแผนแผนงานมาโดยตลอด มีทั้งแผนงานหลัก แผนงานรอง และแผนเผชิญเหตุตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากการใช้ระบบสาธารณสุขปกติ และเมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ก็ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อบูรณาการและใช้ทรัพยากร บุคลากร ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร มาช่วยกันดูแล
ส่วนการรักษาพยาบาลในระยะแรกๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรมากนัก แต่เมื่อมีการระบาดมากขึ้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีการปรับแผน การดูแลประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ ทำการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อลดปัญหาเรื่องเตียง ไม่เพียงพอ ในโรงพยาบาล โดยพัฒนาจากโรงพยาบาลสีเขียวให้เป็นสีเหลืองและสีแดง เพื่อให้มีขีดความสามารถมากยิ่งขึ้น
ส่วนการฉีดวัคซีนได้ทยอยฉีดให้ตามจำนวน วัคซีนที่เราได้รับมา ขณะเดียวกันวันนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ มีผู้ป่วยรักษาหายใกล้เคียงหรือมากกว่าผู้ติดเชื้อในบางวัน แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพการทำงานเราเริ่มดีขึ้น แต่ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ
ซึ่งอยากให้ทุกภาคส่วนได้ทำการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามครบวงจร ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งเชื่อว่าน้ำใจ ที่มีให้กัน จะสามารถทำได้ เพราะเรามีลมหายใจเดียวกัน คือการช่วยเหลือประชาชน และการเพิ่มขีดความสามารถ ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ให้มีช่องทางการรักษามากยิ่งขึ้น
นายกฯชื่นชมนักวิจัยไทย พัฒนาชุดตรวจโควิด-19 และวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบพ่นจมูก ความสำเร็จของการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมทีมนักวิจัยไทยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่ผลิตผลงานที่เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19
คือ 1) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบพ่นจมูก ชนิด Adenovirus-based และ Influenza-based ซึ่งผ่านการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองเรียบร้อยแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพต่อการคุมโรคที่เกิดขึ้น ปลอดภัยไม่มีปัญหา และ 2) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ได้พัฒนา “NANO COVID-19 Antigen Rapid Test ” เป็นชุดตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 แบบรวดเร็ว ที่มีความไวและความแม่นยำสูงมาก
สำหรับการพัฒนาวัคซีนแบบพ่นจมูก พบว่าการทดสอบในหนูทดลองนอกจากไม่มีอาการป่วยแล้ว ยังมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น จากนี้ จะมีการยื่นเอกสารต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอทดสอบในมนุษย์ โดยจะร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วางแผนทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งหากได้รับอนุมัติเร็ว คาดว่าจะเริ่มทดสอบในมนุษย์เฟสแรกปลายปี 2564 นี้ และต่อเนื่องเฟส 2 ในเดือนมีนาคม ปี65 หากได้ผลดีจะสามารถผลิตออกมาใช้ได้ประมาณกลางปีหน้า
ขณะที่ การพัฒนาชุดตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 แบบรวดเร็ว ช่วยลดปริมาณผู้ป่วยที่ต้องตรวจด้วยวิธีการ RT-PCR ลดค่าใช้จ่าย ลดภาระงานในระบบสาธารณสุขและทางศูนย์ฯกำลังเร่งผลักดันการถ่ายทอดเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้ประโยชน์ เพื่อให้สามารถผลิตใช้เองได้ในประเทศ ตอบสนองความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขตามนโยบายรัฐบาล
ส่วนความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในประเทศไทยนั้น ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะนี้ได้ทดสอบการฉีดวัคซีน”ChulaCov19″ ให้กับอาสาสมัครแล้ว เพื่อศึกษาประสิทธิภาพสูงสุดของปริมาณวัคซีนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสม ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล และทีมนักวิจัย และลำดับต่อไป จะเข้าสู่การทดสอบทางคลินิก ระยะที่ 2 จำนวน 150-300 คน คาดจะเริ่มต้นฉีดได้ในเดือนส.ค.นี้
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามความคืบหน้าและชื่นชมในความสามารถของนักวิจัยไทย ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 คนไทยได้ผลิตผลงานที่เป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก แม้ยังจะต้องใช้เวลาในการทดสอบผลให้แน่ชัดอีกระยะหนึ่ง แต่ความก้าวหน้าต่างๆถือเป็นตัวบ่งชี้ศักยภาพของประเทศที่เราจะสามารถลดการนำเข้าเวชภัณฑ์เสริมความมั่นคงทางสาธารณสุข และที่สำคัญ ความสำเร็จเหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศต้องการ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news