ผบช.น.แถลงปัดยิงม็อบตาย-รวบ48ผู้ก่อเหตุ
ผบช.น.แถลงรวบม็อบแยกดินแดง 48 คน เป็นเยาวชน 15 คน ยึดรถ จยย. 122 คัน – ตำรวจเจ็บ 9 นาย
พล.ต.ท.ภัคพงษ์ พงศ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แถลงสรุปการชุมนุม ของเครือข่ายแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่จัดกิจกรรม คาร์ม็อบ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยจุดเริ่มต้นคือ บริเวณแยกราชประสงค์ และเครื่องขบวนไปยัง เส้นทางต่างๆ ได้แก่ บริษัทซิโนทัย, ถนนพระราม 9 บริษัท อสมท จำกัด มหาชน, King Power ซอยรางน้ำ และบางส่วนเคลื่อนไปยังไปยัง บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและเกิดการปะทะกันเกิดขึ้น ทำให้ เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 9 นาย ในจำนวนนี้ถูกระสุนปืนยิงเข้าบริเวณขาซ้าย 1 นาย ได้เข้ารับการรักษาที่ รพ.ตำรวจ และจากเหตุปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 48 คน เป็นเยาวชนจำนวน 16 คน เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีหลายข้อหาแตกต่างกันไป อาทิ รวมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, ฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินฯ, ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ไม่ทำตามคำสั่งเจ้าพนักงาน, เผาทำลายทรัพย์สิน
นอกจากนี้สามารถตรวจยึดรถจักรยานยนต์ ได้ทั้งสิ้น 122 คัน บางส่วนพบไม่มีป้ายทะเบียนและ หนังสือจดทะเบียน ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ หากพบว่ามาร่วมชุมนุมก็จะดำเนินคดี ส่วนการเผาป้อมตำรวจบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและตู้ยามย่อยบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้น จากการตรวจสอบของ พฐ.พบหลักฐานสำคัญเช่น เศษระเบิดปิงปอง ประทัด ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการวางเพลิงหรือปาเข้าไปใส่ ต้องรอตรวจพิสูจน์อีกครั้ง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยืนยันว่า อาวุธที่เจ้าหน้าที่ใช้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และปฏิบัติตามยุทธวิธีเพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามบานปลายในส่วนของประชาชนบริเวณใกล้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เจ้าหน้าที่จะพยายามเลี่ยงเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ผบช.น. ยันปรับกำลังรับม็อบทุกรูปแบบยังไม่จำเป็นต้องขอกำลังทหารช่วย
พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มทะลุฟ้า มีการประกาศนัดชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อไปกรมทหารราบที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต ในวันนี้ ยืนยัน ตำรวจเตรียมกำลัง และความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์แล้ว แม้จะพบว่า การชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา มีการใช้กระสุนจริงกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม แต่ตำรวจยังมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ และตำรวจยังคงใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามหลักสากล โดยไม่ได้ใช้อาวุธปืน โดยยืนยัน ตำรวจไม่มีเจตนาทำร้ายผู้ชุมนุม เพียงรักษาความสงบและบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่หากพบว่า สถานการณ์ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นการก่อจราจล หรือ ก่อเหตุร้าย ก็จะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง แต่คนเชื่อว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงถึงขั้นนั้น พร้อมย้ำว่า ขณะนี้ ตำรวจยังควบคุมสถานการณ์การชุมนุมได้ ยังไม่ต้องกำลังสนับสนุนจากทหาร
ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยอมรับว่า การเปลี่ยนรูปแบบการชุมนุมเป็นคาร์ม็อบ ทำให้เกิดผลกระทบด้านการจราจรเป็นวงกว้าง เนื่องจาก การกำหนดเป้าหมายและเส้นทางไม่แน่นอน ประกอบกับ มีการเผาทำลายตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร เมื่อผู้ชุมนุมเลิกแล้ว จึงไม่สามารถคุมสัญญาณไฟได้ จนเกิดผลกระทบกว้างขึ้น ส่วนการชุมนุมวันนี้ คาดว่า จะส่งผลกระทบต่อเส้นทางโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้แก่ ถนนพญาไท, ถนนพหลโยธิน, ถนนดินแดง, ถนนราชวิถี, ซอยพหลโยธิน 2, ทางลงด่วนอนุสาวรีย์ชียสมรภูมิ, ถนนวิภาวดีรังสิต ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงไปใช้ถนนรอบนอกเส้นทางดังกล่าว และสามารถติดตามข่าวสารได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 1197 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทาง เว็บไซต์ WWW.TRAFFICPOLICE.GO.TH หรือ Facebook1197
โฆษก บช.น. โต้ Fake News ปัดตำรวจยิงม็อบดับ ชี้เป็นอุบัติเหตุ จยย. ชนรถขยะ ขณะตำรวจทุบรถเป็นคลิปเก่าปี 56
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล แถลงผลการดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์ Fake News เกี่ยวกับการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 64 ว่าเมื่อวานที่ผ่านมามีการโพสต์ และแชร์ Fake News ที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่และภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจใน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการนำภาพผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุไปโพสต์ประกอบข้อความว่า เด็กช่างกลถูกยิงเสียชีวิต 1 คน ในเหตุการณ์ร่วมชุมนุม ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถกวาดขยะของกรุงเทพมหานคร เสียชีวิตที่เชิงสะพานพระปกเกล้า
ซึ่งตำรวจ สน.บุปผาราม ได้ทำการตรวจสอบและส่งศพไปพิสูจน์ที่ รพ.ศิริราช ซึ่งผลพบว่าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจริง ไม่ได้เกิดจากการถูกยิงเสียชีวิตตามที่มีการโพสต์, เรื่องที่สองคือการนำคลิปภาพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทุบรถประชาชนมาโพสต์ในโซเชียล โดยติดแฮชแท็ก #ม็อบ10สิงหา กล่าวอ้างว่าเป็นพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ในการชุมนุมเมื่อวาน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าภาพดังกล่าวเป็นเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อปี 2556 ทั้งนี้พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่เกิน 5 ปี ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งในส่วนนี้อยากฝากไปถึงผู้ที่โพสต์ และแชร์ข้อความดังกล่าว ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย
โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ยังกล่าวถึงคลิปภาพที่มีการแชร์กันในโซเชียลที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนพยายามที่จะเข้าไปควบคุมชายวัยรุ่นคนหนึ่ง ซึ่งมีข้อความประกอบคลิปว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายประชาชนว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเข้าไปควบคุมตัวผู้กระทำความผิดและเป็นไปตามยุทธวิธียืนยันว่าไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายแต่ผู้โพสต์คลิปดังกล่าวมีเจตนาไม่ดี เพราะต้องการให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าตำรวจให้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news