“ราเมศ” ย้ำ แก้ รธน. ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ ปชป. ตรงไปตรงมา ยึดรัฐธรรมนูญ และ ข้อบังคับ
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีที่มีการกล่าวถึงเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า การพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่ พ.ศ. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) เป็นเรื่องปกติที่จะมีการถกเถียงกันมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ทั้งหมดก็ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับอย่างเคร่งครัดตรงไปตรงมา การที่รัฐสภารับหลักการมาในร่างดังกล่าวซึ่งเป็นร่างที่มีหลักการและเหตุผลคือการแก้มาตรา 83 และมาตรา 91 มีหลักการและเหตุผล เป็นเรื่องการแก้เรื่องระบบการเลือกตั้ง
เมื่อร่างดังกล่าวสมาชิกรัฐสภามีมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง เข้าสู่การพิจารณาในวาระที่สองคือในชั้นคณะกรรมาธิการ ก็ต้องมีการพิจารณาให้มีความละเอียดรอบคอบ หากมีมาตราใดที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง หากต้องการปรับแก้ในมาตราใดข้อความใด เพื่อให้สอดคล้องต้องกันกับหลักการและเหตุผลคือในส่วนของระบบเลือกตั้งก็สามารถทำได้ ทั้งในส่วนของกรรมาธิการและในส่วนของสมาชิกรัฐสภาที่ยื่นแปรญัตติไว้ ซึ่งข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 124 ได้ระบุไว้ชัดว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นคณะกรรมาธิการสมาชิกรัฐสภาสามารถที่จะแปรญัตติได้และในวรรคที่สาม ได้ระบุไว้ชัดอีกว่า การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอนหรือแก้ไขมาตราเดิมต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีเจตนารมณ์ชัดว่าสมาชิกสามารถดำเนินการได้ และข้อบังคับก็ไม่ได้ห้ามสมาชิกรัฐสภาผู้เสนอร่างไม่ให้ยื่นคำแปรญัตติ ทั้งหมดคือหลักการที่สำคัญในการให้สมาชิกรัฐสภาได้ตรวจตราในมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักการได้ด้วย เพื่อให้รัฐธรรมนูญเมื่อแก้ไขแล้วสามารถบังคับใช้ได้โดยไม่ขัดหรือแย้งกันแต่จะไปแก้ในมาตราอื่นๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักการและเหตุผลก็ไม่สามารถทำได้ เช่น แก้เรื่องที่มา สว. อำนาจ สว. อำนาจองค์กรอิสระหรือเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งไม่สามารถทำได้ ประเด็นดังกล่าวนี้มีแนวทางของกฤษฎีกาและฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานนิติบัญญัติ
รวมถึงกรรมาธิการที่ยกร่างข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ก็ได้ให้ความเห็นไว้ชัดเจนถึงเจตนารมณ์ว่าสามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้ เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง และเชื่อว่า นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการ เป็นคนละเอียดและได้ดูเรื่องนี้อย่างรอบคอบแล้ว สิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับท่านไม่ทำแน่นอน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็ได้ดำเนินการตามข้อบังคับในการยื่นคำแปรญัตติโดยอาศัยสิทธิอันชอบตามข้อบังคับ หากจะกล่าวหาว่าไม่สามารถยื่นคำแปรญัตติได้แสดงว่าสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมกันลงชื่อ รวมถึงสมาชิกที่รับหลักการไม่มีใครสามารถยื่นคำแปรญัตติได้แม้แต่คนเดียว ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องพื้นฐานในเรื่องหลักการในการร่างกฎหมายผู้เสนอร่างอาจจะลงมติในวาระแรกอย่างไรก็ได้ เมื่อเข้าสู่วาระที่สองในชั้นคณะกรรมาธิการสมาชิกผู้เสนอร่างและสมาชิกผู้ลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง สามารถยื่นคำแปรญัตติได้ เพื่อให้กฎหมายเกิดความสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม ทุกกระบวนการเดินตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ เคารพในความเห็นต่างแต่ไม่อยากให้มองว่าเป็นความแตกแยก เพราะถ้าแตกแยกแสดงว่าเจตนาตั้งต้นไม่ได้เกิดจากความตรงไปตรงมาในความเห็นแต่อย่างใด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news