กรมการพัฒนาชุมชน ผนึก 11 พันธมิตร ลงนามความร่วมมือสร้างสรรค์ ส่งเสริม ต่อยอด โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่
กรมการพัฒนาชุมชนผนึกพันธมิตร ทั้งภาครัฐ และเอกชน ลงนามความร่วมมือ เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา โมเดลขั้นก้าวหน้า” หวังปั้น 9 ฐานผลิตสินค้าภูมิภาคเฟ้นให้ได้ 36 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากผลผลิตทางการเกษตรจากทั่วประเทศ ขึ้นแท่น Premium Product of Thailand กรุยทางสู่ตลาดสากล นายสุทธิพงศ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยภายหลังร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ขั้นก้าวหน้า “ Premium Product of Thailand ในทุกภูมิภาคของไทย” ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ระหว่างการจัดงานสัปดาห์ “OTOP CITY 2020” ระหว่างวันที่ 19 – 27 ธันวาคม 2563 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพคเมืองทองธานี โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานในพิธี ว่าการลงนามความร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังผลสัมฤทธิ์จากการลงนามความร่วมมือของโครงการ “โคก หนอง นา ป่าลำไย ลุ่มน้ำน่าน” ที่กรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมมือทำกับ 16 หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่จังหวัดน่าน เริ่มผลิตเป็นลำไยอินทรีย์ให้ได้มาตรฐาน พร้อมสนับสนุนตลาดผู้รับซื้อทำให้มีพื้นที่ของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยอินทรีย์เพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีผลผลิตที่สามารถใช้นวัตกรรมทางการเกษตรในการแปรรูป ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพดี สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล เป็นการเพิ่ม Value Added ให้กับผลิตผลทางการเกษตรของไทย กรมการพัฒนาชุมชนจึงเล็งเห็นว่าการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยที่ถูกต้อง ด้วยการส่งเสริม สนับสนุน และต่อยอดผลิตผลทางการเกษตรขั้นต้น สู่งานวิจัยและพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง โดยการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เกิดขึ้นระหว่าง กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ,สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยขอนแก่น,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ,สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ,สมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวะกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ,บริษัทเขาใหญ่ พาโนราม่า วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ,บริษัทไทธนบุรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด,และบริษัท เอิร์ธแคร์ อินโนซิส จำกัด โดยมีตัวแทนจากสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนเข้าร่วมในพิธีดังกล่าว มีเป้าหมายสำคัญในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการพัฒนาต่อยอดจากโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ไปสู่ขั้นก้าวหน้า โดยทำการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ขั้นก้าวหน้า เพื่อให้เกิด“ Premium Product of Thailand ” ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ภาคละ 9 ผลิตภัณฑ์ รวมเป็น 36 ผลิตภัณฑ์ จากนั้นจะทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีรวมถึงการสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ได้จากงานวิจัยให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ถูกคัดเลือก จากพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life :CLM) ภาคละ 9 แห่ง ให้เข้าร่วมโครงการดำเนินการแปรรูป และผลิต จนเกิดเป็น Premium Product of Thailand จากนั้นส่งต่อให้ทีมการตลาด นำเสนอผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศต่อไป “สำหรับความร่วมมือนี้กรมการพัฒนาชุมชนจะทำหน้าที่ประสานพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ สนับสนุนประชาสัมพันธ์เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้าใจในการร่วมโครงการ ส่วนสำนักงานอาหารและยา จะเข้ามาส่งเสริมให้คำแนะนำการขั้นทะเบียน หรือการจดแจ้งผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้ ส่วนมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคจะทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านวิชาการและงานวิจัยขั้นก้าวหน้าเพื่อพัฒนาสินค้านวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมจากผลผลิตทางการเกษตรภาคละ 9 ผลิตภัณฑ์ ส่วนสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะทำหน้าที่สนับสนุนด้านกระบวนการแปรรูป ออกแบบขั้นตอนและกระบวนการผลิตในโครงการ สำหรับสมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวะกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะให้การสนับสนุนและให้คำปรึกษางานด้านการสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักร โดยบริษัทเอกชนนั้น บริษัท เขาใหญ่ พาโนราม่า วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด จะเข้ามาสนับสนุนงานด้านการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมให้ชุมชน และสนับสนุนงานด้านการตลาดและการจัดจำหน่ายภายในประเทศ บริษัท ไทธนบุรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้สนับสนุนด้านการตลาดต่างประเทศ และบริษัท เอิร์ธแคร์อินโนซิส จำกัด จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนงานด้านการถ่ายทอดความรู้ ขั้นตอน และวัสดุภัณฑ์ในการทดสอบสารเคมีตกค้างในดิน ในแหล่งน้ำและในผลิตทางการเกษตร” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวในที่สุด สำหรับกรอบเวลาการทำงานร่วมกันภายใต้บันทึกความร่วมมือครั้งนี้มีผลการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2563 และจะสิ้นสุดในวันที่ 23 ธันวาคม 2564 โดยจะมีการประเมินผลการทำงานร่วมกันเป็นระยะ เพื่อผลสัมฤทธิ์ของการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เกิดเป็นความร่วมมืออย่างยั่งยืนในที่สุด