ลุ้นวาระ 3 แก้รธน.ขั้นเทพ..รอดหรือร่วง!
ภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 83,86 และ 91 ตามที่คณะกรรมาธิการ ซึ่งมี “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เป็นประธาน ในวาระที่ 2 แล้ว ก็นับเป็นความสำเร็จอีกขั้น ของความพยายามที่หวังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ซึ่งนับว่าแก้ไขยากที่สุดเท่าที่ประเทศไทย เคยมีรัฐธรรมนูญให้ได้ หลัง ส.ส. ทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล พยายามจุดประเด็น ผลักดัน มาหลายครั้งนับตั้งแต่ปลายปี 2562 เป็นต้นมา เพื่อรื้อใหม่ทั้งฉบับขจัดผลพวงจารัฐประหาร แต่จบลงด้วยความล้มเหลว ถูกเตะถ่วง ถูกสกัดกั้นมาโดยตลอด แม้ในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่างๆ เพื่อเรียกร้องกดดันอย่างรุนแรง ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ เพราะติดขัดด้วยเงื่อนไขและการตีความข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้ ใน ม.256 แต่สำหรับการก้าวเดินครั้งนี้เป็นการแก้ไขแค่ 2 มาตรา ตามญัตติที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ และสามารถผ่าน 2 ก้าวสำคัญไปได้แล้ว พร้อมกับต้องรออีกอย่างน้อย 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดหรือประมาณวันที่ 10 ก.ย. จึงจะมีการลงมติในวาระที่ 3 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญว่า การแก้ไขครั้งนี้ จะสามารถเป็นจริงได้หรือไม่ เพราะยังมีเงื่อนไขอีกมากมายและมีความยากยิ่งกว่า ใน 2 ก้าวแรกอีกหลายเท่าตัว และตัวแปรที่สำคัญคือ ส.ว.
ภายใต้ มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560
1. เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้ว ให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป
2. การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบ มากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกรัฐสภา
2.1 ต้องมี ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ
2.2 ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
3.หากมีการลงมติเห็นชอบตามแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวันแล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ และให้นําความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
4.ก่อนนายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
5.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง
จะเห็นได้ว่าขั้นตอนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น แม้จะผ่าน 2 ด่านหินมาแล้ว เส้นทางที่เหลือก็ยังไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ยังคงมีความยุ่งยากและสุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะการโหวตวาระ 3 ที่จะต้องใช้ เสียง ส.ว. อีกอย่างน้อย 84 เสียง ส่วนของของฝ่ายค้าน ร้อยละ 20 นั้นคงไม่ยาก แม้ ก้าวไกล จะแสดงจุดยืนไม่เอาด้วยก็ตาม แต่เพื่อไทย ที่จะได้ประโยชน์ จากบัตร 2 ใบ น่าจะเทคะแนนมากลบได้ แต่ก็ต้องวัดใจ ส.ส. และ ส.ว.อีกครั้งว่าจะมีใครเป็นตัวตั้งตัวตียื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ ความพยายามแก้ไขครั้งก่อน แก้มาตรา 256 ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ที่ยื้อกันจนหยดสุดท้าย ใช้เวลาไปกว่า 7 เดือนก่อนจะล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา แม้จะไม่ชี้ชัด ฟันธงว่าผิด แถมยังเปิดช่องให้ใช้เทคนิคของกฎหมาย เพื่อที่จะเดินหน้าต่อไปได้บ้างตามที่หลายคนตีความ แต่ท้ายที่สุดสภาก็ไม่สามารถไปต่อได้ นั่นเอง ดังนั้น ครั้งนี้แม้จะเป็นเพียง การแก้ไขเพียง 2 มาตรา แค่เรื่องใช้บัตร 2 ใบ ปรับวิธีการนับคะแนนแต่ก็เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในเชิงการเมืองพอสมควร เพราะจะสามารถชี้ขาดผลแพ้ชนะกันหลังเลือกตั้งได้ และบางพรรคมองเป็นการเอื้อประโยชน์พรรคใหญ่จึงยากที่จะคาดเดา ว่าผลโหวตวาระที่ 3 จะเป็นอย่างไร หรือหากผ่านแล้ว จะยังมีกลุ่มใด ใช้วิธีการเดิมยื่นศาลวินิจฉัย ตามที่ มาตรา 256 เปิดทางไว้อีกหรือไม่
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news