Home
|
ข่าว

ครม.แต่งตั้ง “เฉลิมพล” นั่งผอ.สำนักงบฯ

Featured Image
ครม.อนุมัติแต่งตั้ง “เฉลิมพล” ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงบฯสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมแต่งตั้ง “สุรสีห์” ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้ง นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เสนอรับโอน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

 

ครม.อนุมัติให้นายกฯกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง “ลลิต” ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายลลิต ถนอมสิงห์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือเลขาธิการ กปร. มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ สำนักงาน กปร. เสนอ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

ครม.รับทราบรายงานการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) พร้อมเห็นชอบมาตรการเร่งรัดให้หน่วยงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการใช้บริการ e-Service และแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบ ตามที่ก.พ.ร.รายงานสถานะความก้าวหน้า เดือนมิ.ย.64

ทั้งนี้ ก.พ.ร. ระบุว่า ภายหลังจากที่ ครม.เมื่อวันที่ 8 ก.ย.63 มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์(e-Service) และให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแนวทางที่สำนักงานก.พ.ร.เสนอ ซึ่งก.พ.ร.ได้ดำเนินการตามมติครม.แล้ว โดยแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบจำนวน 84 ฉบับ ซึ่งมีความก้าวหน้าดังนี้

กฎหมายและกฎระเบียบที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 จำนวน 23 ฉบับ สามารถดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จรวม 19 ฉบับ อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 4 ฉบับ และมีหน่วยงานที่สามารถดำเนินการแก้ไขกฎหมายเสร็จก่อนเวลาที่กำหนด 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, กรมสรรพสามิต, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมประชาสัมพันธ์, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม

สำหรับกฎหมายและกฎระเบียบในภาพรวมทั้ง 84 ฉบับ สามารถแยกออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่ดำเนินการเสร็จแล้วจำนวน 48 ฉบับ, กลุ่มที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งได้จัดรับฟังความคิดเห็นหรือทบทวนแก้ไขเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างเสนอผู้มีอำนาจตามกฎหมายพิจารณาจำนวน 12 ฉบับ และกลุ่มที่อยู่ระหว่างรวบรวมปัญหาและอุปสรรค หรือรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนแก้ไขจำนวน 24 ฉบับ อย่างไรก็ตาม ก.พ.ร.เห็นควรกำหนดมาตรการให้หน่วยงานเร่งดำเนินการดังนี้

ให้หน่วยงานที่แก้ไขกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว เร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการใช้บริการ e-Service ของหน่วยงาน, กลุ่มที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ให้เร่งดำเนินการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้สำนักงานก.พ.ร.ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานเป็นระยะ และ กลุ่มที่อยู่ระหว่างรวบรวมปัญหาและอุปสรรค ให้เร่งดำเนินการทบทวนเพื่อแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค โดยรวบรวมประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ ประเด็นที่ต้องการขอรับการสนับสนุนหรือคำปรึกษาจากสำนักงานก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำแผนและระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในการแก้ไขกฎหมายและให้สำนักงานก.พ.ร.ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานให้เป็นไปตามแผน

 

ครม.อนุมัติงบกลาง ให้กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เอาชนะโควิดตามมาตรการเร่งด่วน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 105.59 ล้านบาท ให้กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เอาชนะโควิดตามมาตรการเร่งด่วน สำหรับผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์เพื่อการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบจากโควิด-19 เฉพาะกิจกรรมที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการในระยะเร่งด่วน หรือภายในเดือน ธ.ค.64 โดยคำนึงถึงความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ทั้งนี้ กรมประชาสัมพันธ์ ระบุว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ในการบริหารจัดการการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบมหาศาลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งเกิดการเผยแพร่ข่าวปลอม การบิดเบือนข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เข้าใจผิด และอาจเกิดปัญหาความขัดแย้งบานปลายได้

ดังนั้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว รวมทั้งการสร้างความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ มาตรการแก้ไขปัญหา วิธีปฏิบัติตน และการรับการเยียวยาจากภาครัฐ จึงเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นเร่งด่วน ที่กรมประชาสัมพันธ์ในฐานะหน่วยงานสื่อภาครัฐต้องเร่งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานสื่อทุกภาคส่วนของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในภาพรวมประสบความสำเร็จ สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อ และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน

 

ครม.เห็นชอบการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มอบหน่วยงานรับมือฤดูฝน 10 มาตรการ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมอบหมายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ดำเนินการดังนี้คือ

เรื่องมาตรการรับมือฤดูฝน 10 มาตรการ เช่น ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ, บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก, ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเขื่อนระบายน้ำ, เตรียมพร้อม วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่ฝนน้อยกว่าค่าปกติ, ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 625 แห่ง ดำเนินการไปแล้ว 400 แห่ง, ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา เป็นต้น

การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำผ่านระบบบริหารจัดการ แผนงานโครงการ และฐานข้อมูลสำหรับบูรณาการแผนงานเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ, เรื่องการจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำผ่านระบบ Thai Water Resources(TWR), เรื่องแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการขนาดเล็กด้านทรัพยากรน้ำ และเรื่องการทบทวนบทบาทภารกิจหน่วยงานในการบริหารทรัพยากรน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นเป้าหมายและหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561-2580)

ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ตั้งเป้าปีหน้า แตะ 5.3 ล้านล้านบาท

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 พ.ศ. 2564 – 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้ กำหนดให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e- Commerce) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าของประเทศไทยภายใต้ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) โดยมีเป้าหมาย ผลักดันมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 ล้านล้านบาท ในปีพ.ศ. 2565

ทั้งนี้ ที่ประชุมให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การอำนวยความสะดวกด้านการจัดเก็บภาษี การเชื่อมโยงกับบริการของรัฐแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ และการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามได้โดยสะดวก ไม่ซ้ำซ้อน และมีภาระการดำเนินการน้อยที่สุด รวมทั้งพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่สามารถยุติข้อร้องเรียนและเยียวยาผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจในเศรษฐกิจดิจิทัล

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube