“ลุงปรับเพดานหนี้กู้ต่อไม่รอแล้ว”
หลายคนคงอาจไม่เข้าใจว่าเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีคืออะไร เพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีนั้น คือกรอบวินัยทางการเงินการคลังที่รัฐบาลจะกู้เงินได้ไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้
โดยล่าสุดมีการประชุมคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อประชุมและสรุปขยับ เพดานหนี้ สาธารณะต่อจีดีพี จากไม่เกินร้อยละ 60 เป็นไม่เกินร้อยละ 70 ต่อจีดีพี ซึ่งถือเป็นการเปิดช่องทางให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มได้มากกว่าเดิมบนสถานการณ์ที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินในการแก้ไขสถานการณ์จากปัญหาการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่จะต้องใช้วงเงินในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาเปิดเผยว่า การทบทวนกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จากเดิมที่กำหนดไว้ ต้องไม่เกินร้อยละ 60 เป็น ต้องไม่เกินร้อยละ 70 นั้น เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้กับรัฐบาล และไม่เป็นอุปสรรคหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลาง โดยยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี โดยการทบทวนกรอบสัดส่วนการบริหารหนี้สาธารณะในครั้งนี้เป็นไปตามความในมาตรา 50 แห่ง พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้มีการทบทวนสัดส่วนต่างๆ อย่างน้อยทุก 3 ปี
ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนหน้านี้ ที่เคยออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่าอาจมีความยืดเยื้อ และยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจในครั้งนี้แก้ยากกว่า วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เนื่องจากมีผลกระทบเป็นวงกว้างและเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งการกู้เงินของภาคการคลังที่เป็นสิ่งที่จำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ ดังนั้นหากจะมีการกู้เงินของรัฐบาลจนทำให้มีหนี้สาธารณะขยับขึ้นไปที่ระดับร้อยละ 70 ต่อจีดีพี ก็ไม่น่ากังวล เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวไปมากกว่านี้
ขณะที่ภาคเอกชนอย่าง บล.เอเซียพลัส มองว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ต่อจีดีพี จะช่วยเพิ่มความคาดหวังในอนาคตที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ๆออกมาเพิ่มเติม โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 และเบื้องต้นคาดว่ารูปแบบน่าจะคล้ายกับมาตรการที่เคยดำเนินการไป เช่น เราเที่ยวด้วยกัน, คนละครึ่ง, ช็อปดีมีคืน และหุ้นที่ได้ประโยชน์จะเป็นหุ้นกลุ่มค้าปลีก, กลุ่มห้างสรรพสินค้า หลังการระบาดของ COVID-19 กดดันให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงเป็นวงกว้าง หนุนให้ภาครัฐเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆอย่างต่อเนื่อง
ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ภาคเอกชนภาครัฐและธนาคารกลางของประเทศมีความเห็นตรงกัน ทั้งนี้การกู้เงินในอนาคตคงต้องระมัดระวัง และนึกถึงการใช้จ่ายทุกเม็ดเงินให้คุ้มค่ามากที่สุด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news