Home
|
เศรษฐกิจ

ครม.เห็นชอบEXIM BANKปล่อยสินเชื่อ5พันล.

Featured Image
มติครม.เห็นชอบโครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan 5พันล้าน ปล่อยกู้อุตสาหกรรม S – Curve ลงทุนปรับปรุงเครื่องจักร รายละไม่เกิน 100 ล้าน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่า ที่ประชุมอนุมัติโครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท และอนุมัติงบประมาณ 575 ล้านบาท แก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สำหรับดำเนินโครงการ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

โดยโครงการสินเชื่อ EXIM Biz จะเป็นสนับสนุนการให้สินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายละไม่เกิน 100 ล้านบาท ระยะเวลาการให้กู้ยืมไม่เกิน 7 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 คงที่ร้อยละ 2 ปีที่ 3-5 Prime Rate – ร้อยละ 2 และปีที่ 6-7 Prime Rate (ปัจจุบัน ณ 30 ก.ค 64 อัตราดอกเบี้ย Prime Rate อยู่ที่ร้อยละ 5.75) เพื่อใช้ในการปรับปรุงเครื่องจักรหรือลงทุนในเครื่องจักรใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต รวมทั้งปรับปรุงระบบ Software ดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ (S/M/L) ที่อยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S – Curve) และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอนาคต เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เป็นต้น สำหรับวงเงินสินเชื่อของโครงการ 5,000 ล้านบาทนั้นทาง ธสน. จะระดมทุนจากการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน และการกู้ยืมเงินในตลาดการเงิน ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่วันนี้ – 31 กรกฎาคม 2565

มติครม.เห็นชอบเปิดเสรีบริการทางการเงินอาเซียน ฉบับที่ 9 เปิดโอกาสภาคเอกชนขยายการค้าการลงทุนสาขาบริการทางการเงินในอาเซียนมากขึ้น

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่า ที่ประชุมอนุมัติร่างพิธีสารอนุมัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 9ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) และร่างตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 9 ซึ่งเป็นภาคผนวกแนบท้ายร่างพิธีสาร โดยจะมีการลงนามร่วมกันแบบเสมือนจริง (Virtual Signing) ในช่วงการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สำหรับสาระสำคัญของร่างพิธีสารฯ ฉบับที่ 9 มีสาระเช่นเดียวกันกับฉบับที่ 8 ซึ่งได้ลงนามไปแล้ว คือ เป็นการขยายความร่วมมือด้านการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิก โดยลดหรือยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการภายใต้กรอบอาเซียนให้มากกว่าที่เปิดเสรีตามกรอบขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) และประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ตามร่างตารางข้อผูกพันฯ แก่ประเทศสมาชิกอื่น ดังนี้ 1)ประเทศสมาชิกที่เป็นสมาชิก WTO จะต้องคงการให้สิทธิประโยชน์ตามข้อผูกพันเฉพาะของตนภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการแก่ประเทศสมาชิกอื่นที่มิใช่สมาชิก WTO 2)ประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ตามร่างตารางข้อผูกพันแก่ประเทศสมาชิกอื่น ตามหลักการให้การปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored Nation Treatment: MFN) 3)ประเทศสมาชิกตั้งแต่ 2 ประเทศหรือมากกว่านั้น อาจดำเนินการเจรจาและตกลงเปิดเสรีสาขาการธนาคารของประเทศตนตามหลักการและการดำเนินการภายใต้กรอบการรวมตัวสาขาการธนาคารของอาเซียน โดยแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการเจรจาอาจสรุปผลการเจรจา ณ เวลาใดก็ได้

ส่วนร่างตารางข้อผูกพันฯ ฉบับที่ 9 มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงตารางข้อผูกพันในสาขาการธนาคาร โดยเพิ่มเสรีเพิ่มเติมในสาขาย่อยการบริการชำระเงิน
และการส่งเงิน (Payment and Money Transmission Services) สำหรับธุรกิจตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศ (Cross-border Money Transfer Services)
โดยอนุญาตให้มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติได้สูงสุดร้อยละ 49 ซึ่งปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติได้สูงสุด ร้อยะ 75

นางสาวรัชดากล่าวว่า การเปิดเสรีภายใต้กรอบดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทั้งในเชิงลึกและกว้างขวางมากขึ้น นอกจากนั้น ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทยสามารถขยายการค้าการลงทุนในสาขาบริการทางการเงินไปยังประเทศอาเซียนได้สะดวกยิ่งขึ้น ในส่วนของประเทศไทยนั้นการผูกพันการเปิดเสรีเพิ่มเติมในภาคธนาคาร สาขาย่อยธุรกิจตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศ จะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและลดค่าธรรมเนียมการให้บริการจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค อีกทั้งการเปิดเสรีดังกล่าว ยังอยู่ภายใต้กฎหมายปัจจุบันของธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไม่ต้องมีการปรับแก้กฎหมายภายในเพิ่มเติม

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube