ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ไพบูลย์” ไม่สิ้นสมาชิกภาพ ความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัย ในคดีที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 60 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่
จากกรณีที่ นายไพบูลย์ หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป และ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนปฎิรูป ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ หลังจากที่พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรค มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ทั้งที่ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปอยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ และไม่ได้เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือไม่ โดยศาลเห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และอ่านคำวินิจฉัยในวันนี้
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย มีสาระสำคัญสรุปว่า การสิ้นสภาพของพรรคประชาชนปฏิรูป เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการของข้อบังคับพรรคตามที่กำหนด กรรมการบริหารพรรคมีมติเอกฉันท์ให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูปเป็นไปตามข้อบังคับพรรค โดยระบุเหตุผลว่ากรรมการบริหารพรรคหลายคนลาออก และขาดบุคลากรสนับสนุนทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบตามกฎหมายพรรคการเมือง ได้ยืนยันสอดคล้องว่ามีการลงมติตามการประชุมดังกล่าวจริง คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วมีมติเอกฉันท์ให้สิ้นสภาพ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงเป็นไปโดยชอบ
ส่วนที่ผู้ร้อง อ้างว่าผู้ถูกร้องมีเจตนาซ่อนเร้น ศาลเห็นว่า ไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ดังนั้นเมื่อ กกต.ประกาศการสิ้นสภาพ เมื่อ 6ก.ย.62 ทำให้พรรคสิ้นสุดลงตามกฎหมาย ทำให้สมาชิกสภาพของผู้ร้องสิ้นสุดลง แต่เนื่องจากเป็นการยุบพรรคการเมืองโดยมีเจตนารมณ์คุ้มครองการสิ้นสภาพจากการยุบพรรคการเมือง จึงเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วันตั้งแต่วันที่พรรคสิ้นสภาพ ผู้ร้องจึงเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ และปรากฏข้อเท็จจริงผู้ถูกร้องได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ สำหรับข้ออ้างของผู้ร้องที่บอกว่า ผู้ถูกร้องไม่ได้เป็นผู้ถูกเสนอชื่อในบัญชี ส.ส.รายชื่อ จึงไม่อาจเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐนั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งส.ส.บัญชีรายชื่อ มีวัตถุประสงค์บังคับช่วงเลือกตั้งและก่อนการเลือกตั้งจึงเป็นคนละกรณี ซึ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง และผู้ถูกร้องได้เป็นส.ส.แล้ว
ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องจึงไม่พ้นสมาชิกภาพความเป็นส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5)
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news