“วิโรจน์” ระบุ มาตรฐาน SHA ที่รัฐออกเอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ กีดกันรายเล็ก เสนอปรับหลักเกณฑ์ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ขึ้นทะเบียนแทน ททท.
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 หลังเปิดประเทศ ว่าการกำหนด SHA และ SHA Plus เอื้อรายใหญ่ ทิ้งรายย่อย ซึ่งการกำหนดให้ร้านอาหารและผู้ประกอบการการท่องเที่ยวต่างๆ ลงทะเบียน เพื่อขอการรับรองมาตรฐาน SHA ( Amazing Thailand Safety & Health Administration) จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนำมาเป็นเงื่อนไขในการเปิดให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใน เป็นมาตรการที่รัฐบาลทำโดยไม่มีการวางแผนรองรับ เพราะประกาศล่วงหน้าเพียงไม่กี่วัน เป็นการกระทำอย่างไร้ยุทธศาสตร์ จึงเป็นภาระกับผู้ประกอบการอย่างมาก เช่น ระบบการลงทะเบียนล่าช้า บางรายลงทะเบียนไปแล้วกว่า 2 สัปดาห์ ก็ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ไม่มีกำลังคนเพื่อรองรับการขึ้นทะเบียน
โดยนายวิโรจน์ ระบุว่า ที่สำคัญ คือ หลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียน SHA ยังเป็นหลักเกณฑ์ที่เอื้อให้กับผู้ประกอบการโรงแรมขนาดใหญ่เท่านั้น หลายเงื่อนไขเป็นเงื่อนไขที่ร้านอาหาร และสถานประกอบการท้องถิ่นไม่สามารถปฏิบัติได้ หากรัฐบาลยืนยันที่จะใช้หลักเกณฑ์นี้เป็นเกณฑ์เดียวทั่วประเทศ เท่ากับว่าจะเป็นการกีดกันทางการค้า อุ้มแต่โรงแรม และผู้ประกอบการขนาดใหญ่เท่านั้น นอกจาก SHA แล้ว รัฐบาลยังกำหนดมาตรฐาน SHA Plus ซ้อนขึ้นมาอีก โดยเพิ่มเงื่อนไขที่พนักงานต้องได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากกว่า 70% เข้าไป การกำหนดมาตรการ SHA Plus เป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้ แต่ถ้าจะทำอย่างมียุทธศาสตร์ รัฐบาลต้องมีมาตรการการจัดฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการในย่านเศรษฐกิจ และย่านท่องเที่ยวต่างๆควบคู่กันไป แทนที่จะเป็นมาตรการในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กลับกลายเป็นมาตรการที่กีดกันทางการค้า ทำร้ายผู้ประกอบการขนาดย่อม
สำหรับข้อเสนอนายวิโรจน์ ระบุว่า เรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรฐาน SHA เพียงมาตรฐานเดียว โดยปรับหลักเกณฑ์ที่ร้านอาหาร และสถานประกอบการรายย่อยระดับท้องถิ่นสามารถปฏิบัติได้ โดยให้ท้องถิ่นเป็นผู้ขึ้นทะเบียนแทน ททท. ส่วนเงื่อนไขอัตราการฉีดวัคซีน 70% ที่เพิ่มขึ้นไป ให้รัฐบาลกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเพิ่มเข้าไปในมาตรฐาน SHA เดิม โดยมีมาตรการการจัดฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกอบการ ในย่านเศรษฐกิจและย่านการท่องเที่ยวควบคู่ไป และกำหนดให้ผู้ประกอบการเร่งนำเอาพนักงานมารับการฉีดวัคซีนให้มากกว่า 70% ภายในระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนด
“วิโรจน์” เผยก้าวไกลเห็นด้วย เปิดเรียน On-Site แต่ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม แนะปรับหลักสูตรเรียน Online ต้องมีนโยบายคุมปริมาณการบ้านที่จริงจัง
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล ยืนยันพรรคก้าวไกล เห็นด้วยกับการเปิดเรียนแบบ On-Site เนื่องจากมีงานวิจัยที่ประเทศญี่ปุ่นที่ชื่อว่า No Causal Effect of School Closures in Japan on the Spread of COVID-19 in Spring 2020 ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Medicine ระบุว่า การปิดโรงเรียนไม่ได้มีผลต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัยของนักเรียน และความสบายใจของผู้ปกครอง ควรปรุงหลักเกณฑ์ให้รัดกุม ภายใต้เงื่อนไขที่ปฏิบัติได้ไม่ตึงตัวหรือหย่อนเกินไป ดังต่อไปนี้
1. กำหนดให้ครูและบุคลากรในทุกพื้นที่ ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป รวมถึงครูผู้สอนที่ใกล้ชิดนักเรียนต้องฉีดวัคซีน 2 เข็มครบทุกคน ครูที่ฉีดวัคซีน Sinovac หรือวัคซีนเชื้อตาย แม้ว่าจะฉีดครบ 2 เข็มแล้ว ควรได้รับการฉีดเข็มที่ 3 เป็นบูสเตอร์โดสด้วย
2. เร่งรณรงค์การฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับนักเรียน ภายใต้คำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์
3. งดพิธีและกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของนักเรียนในที่แออัด เช่น เข้าแถวตอนเช้า กิจกรรมลูกเสือ เป็นต้น
4. หากนักเรียนเป็นไข้ หรือป่วย ให้พักรักษาตัวที่บ้าน หากพบนักเรียนติดเชื้อให้ตรวจ ATK นักเรียนที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด
5. มีการตรวจ ATK กับครู และบุคลากรของโรงเรียนทุก 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน หากสถานการณ์อยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ โดยให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจ ATK ให้กับโรงเรียน, 6.กระทรวงศึกษาธิการ ควรเป็นผู้ผลิตหลักสูตรการเรียนการสอนแบบ Online พร้อมเอกสารประกอบการสอนต่างๆ ที่มีคุณภาพที่ดีกว่า DLIT หรือ DLTIV เพื่อให้นักเรียนทุกโรงเรียนใช้เรียนได้ ไม่ควรปล่อยให้แต่ละโรงเรียนจัดทำกันเอง, 7. ควรปรับปรุงหลักสูตรโดยมีการลดวิชาเรียนลง จัดการเรียนการสอนเฉพาะวิชาหลัก สำหรับวิชาอื่นๆ ให้จัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการเพื่อลดเวลาเรียน และสามารถแบ่งกลุ่มสลับวันเรียนเพื่อลดความหนาแน่นในโรงเรียนได้ มีนโยบายในการควบคุมปริมาณการบ้านที่จริงจัง ไม่ให้การบ้านและการทำรายงานเป็นภาระที่ซ้ำเติมทั้งเด็กและครู จนเสียสุขภาพจิต
ทั้งนี้นายวิโรจน์ ระบุว่า การปรับตัวทางการศึกษาในสถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่การเอารูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมที่ทวนกระแสยุคสมัยเข้าไปในระบบออนไลน์ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการจัดการเรียนการสอนใหม่หมด แล้วนำเอาระบบออนไลน์มาช่วยสนับสนุน ส่วนการเปิดเรียนแบบ On-Site นั้นมีผลต่อเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนอย่างมาก เพราะการทำมาหากินหลายอย่างผูกอยู่กับการเปิดเรียน ทั้งการขนส่งสาธารณะ การค้าขายอาหาร เป็นต้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news