ศาลฎีกา กำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีปารีณา 7 เม.ย.65
ศาลฎีกา กำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีปารีณา 7 เม.ย.65 พร้อมสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่คกก.พิจารณาร่าง พรบ.งบฯ
ศาลฎีกาออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรกและตรวจพยานหลักฐานคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ยื่นร้อง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีรุกพื้นที่ป่าสงวนใน จ.ราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม โดยศาลกำหนดการไต่สวนและชี้ช่องพยานหลักฐาน ของฝั่ง ป.ป.ช.ทั้งสิ้น 12 ปาก ในวันที่ 8 ,22 ,28 ก.พ.65 ขณะที่ พยานของ น.ส.ปารีณา นัดสอบทั้งสิ้น 10 ปากในวันที่ 1-3 มี.ค.65 และ 8-10 มี.ค.65 โดยวันนัดพยาน ให้พยานมาศาลตามนัดทุกนัด มิเช่นนั้น จะถือว่า ไม่ติดใจในการให้ถ้อยคำ พร้อมนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 7 เม.ย.65 เวลา 10.30 น.
ทั้งนี้ ในการนัดพิจารณาคดีวันนี้ ป.ป.ช.ยังได้ยื่นคัดค้านการดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ของ น.ส.ปารีณา เนื่องจากเห็นว่า ศาลได้สั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.แล้ว ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมาก ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นหน้าที่ของสภาฯ การทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ดังนั้น เมื่อ น.ส.ปารีณา ได้รับคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมาธิการได้ ส่วนกรณีที่ น.ส.ปารีณาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการยื่นคำร้องของ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ผ่านมติของคณะกรรมการจริยธรรมนั้น ศาลเห็นว่า มิใช่บทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องส่งศาลวินิจฉัย จึงมีคำพิพากษา ยกคำร้อง
“ทนายความปารีณา” ชี้ ศาลสั่งยุติหน้าที่กมธ. เป็นบรรทัดฐานใหม่ ขณะปารีณา ยืนยันเคารพการตัดสินใจของศาล
นายทิวา การกระสัง ทนายความของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐกล่าวถึง กรณีที่ศาลฎีการะบุว่า น.ส.ปารีณา ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการได้ เนื่องจากการทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ซึ่งน.ส.ปารีณาได้ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ว่า ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีศาลชี้ขาดว่า ผู้ที่อยู่ระหว่างสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ไปเป็นกรรมาธิการไม่ได้ แต่กระบวนการแต่งตั้ง น.ส.ปารีณา เป็นกระบวนการโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีการเสนอชื่อผ่านสภาฯและได้รับความเห็นชอบ โดย น.ส.ปารีณา ไม่ได้เข้าไปเป็นเอง ดังนั้น จึงไม่ส่งผลทำให้งบประมาณรายจ่ายปี 2565 ต้องเป็นโมฆะและไม่ผูกพันใดๆ เป็นเพียงแค่การสร้างบรรทัดฐานใหม่เท่านั้น แต่หากมีข้อสงสัยในประเด็นนี้ ควรจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเพื่อความชัดเจน เพราะคำวินิจฉัยของศาลฎีกาไม่ได้ผูกพันธ์ทุกองค์กร รวมถึงรัฐสภา
ขณะที่ น.ส.ปารีณา ยืนยันว่า เคารพการตัดสินใจของศาล ส่วนจะส่งผลต่อการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่นั้น ยืนยันว่า ไม่กังวล เพราะระหว่างที่ตนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news