ครม.รับทราบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่13
ครม.รับทราบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน”
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่า ที่ประชุมรับทราบสาระสำคัญร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ โดยร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ เป็นแผนระดับที่ 2 ซึ่งเป็นกลไกในการถ่ายทอดยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ โดยระบุทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ควรให้ความสำคัญในระยะ 5 ปี ภายใต้หลักการและแนวคิดสำคัญ 4 ประการ คือ 1)หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2)แนวคิด“ล้มแล้วลุกไว” (Resilience) มุ่งเน้นการลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลง และการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเพื่อสร้างการเติบโตที่มีคุณภาพและยั่งยืน 3)เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และ 4)โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) รวมทั้งคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย
สำหรับวัตถุประสงค์ของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 คือ เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน”
รองโฆษกฯ รัชดากล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมอบหมายให้ สศช. ประสานงานกับ สำนักงานประมาณ เพื่อกำหนดกลไกที่เหมาะสมในการจัดสรรงบประมาณ และให้ สศช. นำความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาพิจารณาปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และ ครม. พิจารณาความเหมาะสมตามลำดับต่อไป
นอกจากนั้นที่ประชุมได้มีความเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-แคนาดา พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ของไทย และร่างเอกสารขอบเขตสาระที่จะเจรจาในการจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา ซึ่งจะมีการเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน – แคนาดา ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – แคนาดา ครั้งที่10 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ การเจรจาในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยเปิดเสรีทางการค้าผ่านการลดอุปสรรคทางการค้าทางภาษีและที่มิใช่ภาษีในสินค้าทั้งหมดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งเสริมการค้าบริการในสาขาที่สำคัญ และขยายโอกาสด้านการลงทุน ซึ่งการเจรจาในชั้นนี้ยังไม่มีผลผูกผันทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การเจรจา FTA กับแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจส่งผลให้ภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการและผู้ประกอบการของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น และต้องมีการยกระดับมาตรการกฎระเบียบในเรื่องต่างๆให้เป็นสากลมากขึ้น เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การค้าดิจิทัล สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม การแข่งขันทางการค้า และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งข้อกังวลในเรื่องต่างๆ นี้ ขอย้ำว่ารัฐบาลจะเจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news