มติรัฐสภา คว่ำร่าง รธน. Re-Solution ยุบวุฒิสภา 473 : 206 เสียง คว่ำรธน.ฉบับปชช.
ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน จากกลุ่ม Re-Solution ด้วยมติ 473 เสียง (สภาผู้แทนราษฎร 249 เสียง + วุฒิสภา 224 เสียง) ต่อมติเห็นชอบ 206 เสียง (สภาผู้แทนราษฎร 203 เสียง + วุฒิสภา 3 เสียง) งดออกเสียง 3 เสียง โดยคะแนนที่รับหลักการ น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา จึงทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นอันตกไป ซึ่ง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ ไม่รับหลักการต่อการแก้ไขครั้งนี้ มีเพียง ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่ลงมติรับหลักการให้กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้
โดยการลงมติครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังกลุ่ม Re-Solution ได้นำเสนอหลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการเสนอให้แก้ไขระบบเลือกตั้ง จากที่รัฐสภา ได้แก้ไขจากระบบบัตรใบเดียว ไปเป็นระบบบัตร 2 ใบ แต่ภาคประชาชนฯ ได้เสนอให้กลับมาใช้บัตรใบเดียว ตามระบบจัดสรรปันส่วนผสมเช่นเดิม รวมถึงการยกเลิกยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ พร้อมตั้งผู้ตรวจการกองทัพ ผู้ตรวจการศาล และผู้ตรวจการองค์กรอิสระขึ้นมา โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลการใช้งบประมาณ การดำเนินงานของหน่วยงานดังกล่าว และเพื่อให้ข้อเสนอต่อกองทัพ ศาล และองค์กรอิสระในการดำเนินการพร้อมเซตซีโร่ประธาน และกรรมการองค์กรอิสระทุกองค์กรเพื่อกระบวนการสรรหาใหม่
สาระสำคัญในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชนครั้งนี้ ยังมีการเสนอยกเลิกวุฒิสภา เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศไทยไปใช้ “ระบบสภาเดี่ยว” เหลือเพียง “สภาผู้แทนราษฎร” แบบสภาเดี่ยวตามรูปแบบในหลายประเทศ เนื่องจาก เห็นว่า ที่ผ่านมาแม้ วุฒิสภาจะมีหน้าที่หลักในการกลั่นกรองกฎหมาย ต่อจากสภาผู้แทนราษฎร แต่ส่วนใหญ่แล้ว วุฒิสภาก็มักจะเห็นชอบ ตามที่ สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณามา จึงไม่เห็นว่า วุฒิสภา จะทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย หรือถ่วงดุลระบบนิติบัญญัติแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ภายหลังรัฐสภา ไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว ส่งผลให้ในสมัยการประชุมนี้ (สมัยการประชุมที่ 2 ประจำปี 2564) จะทำให้รัฐสภา ไม่สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในลักษณะที่มีหลักการเหมือนกับกลุ่ม Re-Solution ได้อีก จนกว่าจะเริ่มสมัยการประชุมถัดไป
“พริษฐ์”ผิดหวังแก้รธน.ถูกคว่ำ ด้าน “ปิยบุตร”อัดเสียงข้างมากยังไม่ยอมเปิดประตูการแก้ไข
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำ Re-Solution กล่าวภายหลังรัฐสภาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนว่า ตนผิดหวังกับผลมติ เพราะข้อเสนอไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติและขอย้ำข้อเสนอของเราไม่ได้สุดโต่ง ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบทางการเมือง ตนอยากสร้างระบบการเมืองที่ควรจะเป็น ซึ่งคำว่า “ค ว ร” นั่นคือ ค.คืนศักดิ์ศรี สถาบันทางการเมืองว.ไว้ใจประชาชน กำหนดอนาคตตัวเองได้ ไม่มียุทธศาสตร์ชาติมาครอบงำ และ ร. ระบบที่เป็นกลาง ไม่ว่าจะมีความคิดอย่างไร แข่งบนกติกาที่เป็นธรรม ในฐานะผู้ริเริ่มกฎหมายจึงขอขอบคุณสมาชิกรัฐสภาที่โหวตรับหลักการ ผู้อภิปรายที่เป็นประโยชน์ เจ้าหน้าที่รัฐสภา และขอโทษประชาชนที่เข้าชื่อกว่า 1.3 แสนคน รวมถึงประชาชนที่ติดตาม หลังพยายามใช้เวลา 3 ชั่วโมงในการโน้มน้าว เพราะรัฐธรรมนูญที่เนื้อหาไม่เป็นธรรม ไม่สามารถแก้วิกฤตการเมืองได้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ใช้มา 3 ปี มีการแก้ไข 3 ครั้ง เปรียบเป็น 3 ยกซึ่งส่วนใหญ่แทบไม่ผ่านเลย แต่ผ่านแค่ 1 ครั้ง คือ ระบบเลือกตั้ง ที่เป็นการสืบทอดอำนาจ ตนจึงขอตั้งคำถามว่านี่หรือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากับ รัฐบาล กล่าวเป็นนโยบายไว้ ซึ้งถ้าไม่แตะ ส.ว. และการสืบทอดอำนาจ ก็ไม่สามารถแก้วิกฤตการเมืองได้
ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 การลงชื่อเข้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เคยผ่านถึงวาระ 3 เลย ครั้งนี้ตนก็หวังว่าสภาจะฟังเสียงก่อนร้องจากนอกสภา แต่เสียงข้างมากยังไม่เปิดประตูการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงขออย่าสิ้นหวัง เพราะยังมีกำลัง มีลมหายใจ ที่จะรณรงค์ต่อไป ถ้าไม่ทำพวกเขาก็จะอยู่กับรัฐธรรมนูญของพวกเขาต่อไป ในเมื่อประชาธิปไตยทางตรงถูกปิด ตนก็หวังให้ผู้แทนในสภาฯ ที่เห็นด้วยนำไปขับเคลื่อนต่อไป หรือนำไปออกแบบเป็นนโยบายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งทางกลุ่มก็จะกลับเข้ามารณรงค์แก้ไขในการเป็นเสียงข้างมาก ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้เพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น
สำหรับการเคลื่อนไหวต่อไป ต้องมีการพูดคุยกันก่อน ส่วนสถานการณ์จะมีความรุนแรงหรือไม่ ตนไม่สามารถประเมินได้ เพราะไม่ใช่ผู้กำกับ ไม่ใช่ผู้ตัดสิน
แต่เชื่อว่าผู้แทนสามารถประเมินได้
“พิธา”พร้อมรับข้อเสนอแก้รธน.ภาคประชาชนเป็นนโยบายพรรค หวังผลักดันให้สำเร็จ แม้ ส.ว.ชุดนี้ จะยังอยู่
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวภายหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนว่า ถือเป็นการปิดประตูประชาชนในความพยายามการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ซึ่งรู้สึกเสียดายที่จะเอาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เข้าสู่สภาฯ เพื่อพูดคุยหาทางออกให้กับการเมืองไทยสังคมไทย และประเทศไทย ทั้งนี้ มั่นใจว่า การอภิปรายเมื่อวานนี้ ไม่สูญเปล่า เพราะเป็นโอกาสที่ทำให้มีวาระถกแถลงอย่างเป็นทางการ โดยเชื่อว่ายังมีคนกลางได้มีโอกาสรับฟังคำชี้แจง หรือเหตุผลของทั้งสองฝ่าย และจะตัดสินใจได้ว่าอะไรคืออนาคตของชาติ
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกล พร้อมนำข้อเสนอของประชาชนฉบับนี้ไปเป็นนโยบายทางการเมืองหาเสียงในการเลือกตั้งต่อไป และจะผลักดันให้ความฝันนี้เป็นจริงได้ในสักวัน ส่วนสถานการณ์การเมืองหลังจากนี้ จะเกิดอะไรขึ้นยังไม่สามารถบอกได้ จะส่งผลร้อนแรงกับการเมืองนอกสภาหรือไม่นั้นมองว่า มีหลายปัจจัยและคิดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอนส่วนจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่นั้น จะกลับไปหารือกันอีกครั้ง และเชื่อว่ายังมีความหวังในแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง แม้ยังมี ส.ว. ชุดนี้อยู่
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news