“วิษณุ”เผยนายกฯ กำชับรมต.เข้าเช็คชื่อสภา เชื่อไร้ปัญหาบัตรสองใบคุยกันได้ ปัดมองเอื้อบางพรรค ระบุพร้อมเปิดสภาวิสามัญให้สภาทำกฎหมายลูก เม.ย.65 เตือนรัฐบาลเตรียมรับมือเองแรงกดดันยุบสภา
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กำชับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้(24 พ.ย.) โดยห่วงเรื่ององค์ประชุมสภาฯ ที่นายกรัฐมนตรีไม่อยากให้สภาล่ม ว่า นายกรัฐมนตรีบอกเพียงว่ารัฐมนตรีคนไหนที่ว่างในวันพุธและวันพฤหัสบดีให้แวะไปที่สภาบ้าง ซึ่งหมายถึงรัฐมนตรีที่ไม่ว่าเป็นส.ส.หรือไม่ได้เป็นส.ส.ก็ตาม แม้ไม่มีเรื่องของตัวเองก็ควรเป็นโอกาสไปพบปะสภาเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้ห่วงว่ากฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นพิเศษว่าจะไม่ผ่าน แต่ได้มีการพูดถึงว่าตอนรายงานเรื่องวาระของวิปรัฐบาล ว่าจะมีกฎหมายสำคัญบางฉบับเข้าแต่ยังไม่รู้จะเข้าเมื่อไหร่
ส่วนหลังรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบังคับใช้แล้ว แต่ยังมีความเห็นต่างเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ นายวิษณุ ระบุว่า ไม่มีปัญหา บัตรต้องสองใบอยู่แล้ว ส่วนควรจะเป็นเบอร์เดียวกันทั้งคนและพรรคหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่ไปคุยกัน แต่ตามร่างที่กกต.เสนอนั้น ให้ใช้เบอร์เดียวตามเสียงเรียกร้องก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจเข้าทางบางพรรคและไม่เข้าทางบางพรรค แต่คิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตสามารถพูดคุยกันได้
ซึ่งมีการมองว่ามีบางพรรคได้เปรียบและเสียเปรียบนายวิษณุ กล่าวว่า ตนมองไม่ออก แต่บางคนมองว่าได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่ตนมองว่าเป็นความสะดวกในการจดจำ ส่วนคนที่ชำนาญการเลือกตั้งอาจไปมองอย่างอื่นกลายเป็นพรรคใหญ่พรรคเล็ก พรรคเก่าหรือใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ตนไม่ทราบ ไปคุยกันเอง เป็นเรื่องการชิงไหวชิงพริบทางการเมือง ไม่ใช่แง่มุมกฎหมาย ซึ่งไปแก้ได้ในสภาไม่มีปัญหา แต่สิ่งรัฐบาลเป็นห่วงคือเรื่องตารางเวลา
ส่วนเนื้อหาเป็นเรื่องพรรคที่ไปว่ากันมา รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการเสนอให้ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้รอกกต. รับฟังความเห็นรายจังหวัดเกี่ยวกับพ.ร.ป.ว่าการเลือกตั้ง ซึ่งทราบว่ามีการแก้ไขทั้งหมด 37 มาตรา ซึ่งคาดว่าจะรับฟังความเห็นรายจังหวัดแล้วเสร็จไม่เกิน10 ธ.ค. ก่อนจะรับฟังความเห็นจากประชาชนและพรรคการเมือง จากนั้นจะเอาความเห็นมาปรับปรุงร่างกฎหมาย ก่อนเสนอมาให้คณะรัฐมนตรี
โดยนายวิษณุ กล่าวว่า พรรคการเมืองต่างๆ สามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา และตอนตนหารือกับวิปรัฐบาลได้เคยรับปากว่าจะให้มีการพูดคุยกับ กกต.ก่อน รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพจัดการพูดคุยระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ กับ กกต.ให้ จะทำให้เวลาการพิจารณาในสภากระชับขึ้น ซึ่งการเสนอเข้าไปอย่างไรก็เป็นคนละฉบับ แต่ให้เป็นการเคลียร์กันก่อนเข้าสู่การพิจารณา ส่วนจะคุยกันเมื่อไหร่นั้น คงต้องรอให้ กกต.ปรับแก้กฎหมายขั้นสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายมาถึงรัฐบาลแล้ว ตามที่รัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าของเรื่องคงสามารถปรับได้ โดยความเห็นชอบของ กกต. แต่ถ้า กกต.ไม่เห็นชอบคงต้องไปพูดในสภา โดยขอยืมให้พรรคร่วมรัฐบาลเป็นคนพูด เพราะสุดท้ายต้องใช้วิธีการโหวต แต่ทั้งนี้ รัฐบาลมีความสัมพันธ์พอที่จะอธิบายด้วยเหตุด้วยผลกับ กกต.ได้
ส่วนมีนักวิชาการหลายคนมองว่ามองหลังขั้นตอนร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือการทำกฎหมายลูกแล้วเสร็จ จะมีการยุบสภา นายวิษณุ ระบุว่า ไม่รู้จะแก้เสร็จเมื่อไหร่ เพราะไม่ใช่พิจารณาเหมือนกฎหมายธรรมดาที่เสร็จคือเสร็จในวาระ 3 แต่อันนี้หลังสภาพิจารณาแล้ว ต้องบังคับให้ส่งกกต. ถ้ากกต.เห็นว่าแก้อะไรบางอย่างก็ต้องไปเจอในตอนสุดท้าย จะเห็นว่ามีขั้นตอนอื่นที่งอกออกมาไม่ได้จบในวาระ3 ซึ่งหากต้องปรับแก้ รัฐบาลพร้อมเปิดสภาสมัยวิสามัญให้เพื่อแก้ เมื่อแก้เสร็จก็ยื่นทูลเกล้าฯ ภายใน 90 วัน
จากนั้นก็รอโปรดเกล้าฯ ซึ่งตนเคยคิดไทม์ไลน์ว่ากฎหมายลูกจะมีการประกาศใช้ช่วง ก.ค.65 เพราะคิดว่าเปิดสภาสมัยวิสามัญช่วง เม.ย.65 จากนั้นก็ทูลเกล้าฯถวาย กรอบเวลา 90 วันจะอยู่ที่ประมาณ ก.ค.65 นี่คือการคิดเวลายาวที่สุดไว้ก่อน แต่ถ้าโปรดเกล้าฯลงมาก่อนกรอบเวลาก็จะเร็วขึ้น ซึ่งตนเคยบอกในครม.ว่าถ้ากฎหมายมีการประกาศใช้จะมีการกดดันให้ยุบสภารัฐบาลก็ต้องเตรียมรับมือทางการเมืองเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news