Home
|
ข่าว

นายกฯย้ำกลไกพหุภาคีพื้นฐาน 3 M เป็นแนวทางสำคัญ

Featured Image
นายกรัฐมนตรีย้ำกลไกพหุภาคีบนพื้นฐาน 3 M เป็นแนวทางสำคัญของยุค Next Normal

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat Session) และกล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย ในประเด็นอาเซมและประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

 

โดยนายกรัฐมนตรีกัมพูชา

กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือทั้งระดับโลก และภูมิภาค โดยได้เน้นย้ำในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

1) การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสองภูมิภาค

2) การส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียว

3) การส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน

นอกจากนี้ ASEM ควรปรับตัวไปพร้อมกับสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงและมีความซับซ้อนขึ้น ทั้งเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การกีดกันทางการค้า ความขัดแย้งของมหาอำนาจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก

 

สมเด็จพระราชาธิบดี แห่งบรูไนฯ

กล่าวถึงแนวคิดหลักของ ASEM ที่สอดคล้องกับความต้องการของโลกในการรับมือ COVID – 19 ในด้านการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ทางเศรษฐกิจ และประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งสำคัญคือ ต้องส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคี ร่วมกันสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ร่วมกันปกป้องสันติภาพเพื่อเสถียรภาพ

 

นายกรัฐมนตรีจีน

ได้กล่าวถึงการประชุมฯ ครั้งนี้ ว่าเป็นโอกาสให้ผู้นำได้แบ่งปันมุมมองต่อความร่วมมือในระบบพหุภาคี และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ASEM เป็นการประชุมใหญ่ระหว่าง 2 ภูมิภาค ที่มีประวัติศาสตร์ มีความร่วมมือกัน มีการส่งเสริมการธำรงไว้ซึ่งความหลากหลาย การรักษากฎระเบียบระหว่างประเทศบนพื้นฐานกติกา ซึ่งจะร่วมกันรับมือกับความท้าทาย โดยเฉพาะโควิด-19 ส่งผลกระทบกับห่วงโซ่อุปทาน จึงต้องเน้นย้ำถึงความสำคัญของการค้าเสรี ในโอกาสนี้ ยืนยันว่าจีนมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

นายกรัฐมนตรีของไทย

โลกต้องบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2 ประการ ในอนาคตอันใกล้ เพื่อบริหารการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุค Next Normal และป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตที่สร้างผลกระทบรุนแรง และสร้างสมดุลในโลกหลังโควิด-19 ได้แก่

 

1. การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก อาเซม ถือเป็นเวทีที่สามารถหารือเพื่อลดความขัดแย้ง บนพื้นฐานของกฎกติการะหว่างประเทศ และการมีส่วนร่วมของประเทศต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงขนาดพื้นที่หรือขนาดเศรษฐกิจ

2. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก อาเซม ควรสนับสนุนการรักษาสภาพภูมิอากาศที่สมดุล โดยเฉพาะความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบไม่ทำลายระบบนิเวศ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ยังได้ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งสองประการล้วนมาจากฝีมือมนุษย์ เราต้องเปลี่ยนแปลงการกระทำของเราตอนนี้ ก่อนที่ภัยพิบัติที่ร้ายแรงจะบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแปลง พร้อมขอให้ทุกคนหันหน้าเข้าหากัน แสวงหาจุดร่วมและสงวนจุดต่าง ร่วมปรับสมดุลโลก เพื่อความผาสุกของประชาชนทุกคน

 

 

 

นายกฯ ยังย้ำถึงความสำคัญของ “การเสริมสร้างพหุภาคีนิยมเพื่อการเติบโตร่วมกัน” พร้อมผลักดันความร่วมมือเอเชีย-ยุโรปที่เป็นรูปธรรม

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย สำหรับการประชุมเต็มคณะ (Plenary) ช่วงที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กับการฟื้นตัวและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม” ในการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13 (Asia-Europe Meeting: ASEM 13) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งประธานคณะมนตรียุโรปเน้นย้ำประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น ได้แก่

1. การเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม และสนับสนุนให้เอเชียและยุโรปเพิ่มพูนความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานด้านเวชภัณฑ์

2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยส่งเสริมให้มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

3. การส่งเสริมการค้าระหว่างกัน โดยเน้นย้ำการแข่งขันบนพื้นฐานที่เท่าเทียม และ

4. ความเชื่อมโยงและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านดิจิทัล

 

 

นายกรัฐมนตรีไทย เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่ผู้นำจากเอเชียและยุโรปได้หารือเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาระดับโลกในปัจจุบันที่เกิดจากการขาดสมดุล ทั้งวิกฤตโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยปัญหาระดับโลกเหล่านี้ ตอกย้ำถึงความจำเป็นของ “การเสริมสร้างพหุภาคีนิยมเพื่อการเติบโตร่วมกัน” โดยสิ่งสำคัญคือ การผลักดันพหุภาคีนิยมเป็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในโลกยุคหลังโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นคงของมนุษย์ให้แก่ประชาชนของทั้งสองภูมิภาค โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเสนอความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาคเพื่อไม่ให้โลกยุค Next Normal เกิดวิกฤตเช่นนี้อีก คือ

ประการแรก การฟื้นตัวต้องมีความสมดุล เอเชียและยุโรปควรสนับสนุนนโยบายการฟื้นฟูของกันและกันโดยคำนึงถึงความสมดุลของสรรพสิ่ง ซึ่งไทยได้ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นยุทธศาสตร์ในการพลิกโฉมประเทศไปสู่ยุค Next Normal อย่างสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน

 

ประการที่สอง การฟื้นตัวต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เอเชียและยุโรปควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา เอเชียและยุโรปมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกัน

 

ประการสุดท้าย การฟื้นตัวต้องเน้นความเชื่อมโยง วิกฤตโควิด-19 ตอกย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียกับยุโรป ซึ่งไทยได้เริ่มเปิดประเทศอย่างปลอดภัยแล้ว อย่างไรก็ดี เอเชียและยุโรปควรเร่งหารือเพื่อกำหนดมาตรฐานร่วมเกี่ยวกับใบรับรองการฉีดวัคซีนแบบดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางระหว่างกัน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่ที่ประชุมในวันนี้จะร่วมรับรองเอกสาร “เส้นทางสู่ความเชื่อมโยงอาเซม” ซึ่งจะปูทางไปสู่ความเชื่อมโยงระหว่างสองภูมิภาคที่แน่นแฟ้นและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ในการสร้างอนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัง

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube