นิ้วล็อค หรือ Trigger Finger เป็นอาการที่นิ้วเกิดล็อคเมื่องอนิ้ว แล้วไม่สามารถกลับมาเหยียดตรงได้ง่าย นิ้วล็อค นั้นเป็นโรคใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย โรคนิ้วล็อคในปัจจุบันพบได้มากขึ้นเนื่องจากใช้นิ้วมือในการพิมพ์คีย์บอร์ด โทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือใช้ข้อมือขยับเมาส์คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานในออฟฟิศ มีโอกาสเกิดนิ้วล็อคได้มากก็ว่าได้ โดยระยะเริ่มแรก สามารถสังเกตอาการได้ง่าย สัญญาณเตือนของอาการนิ้วล็อค คือจะมีอาการสะดุดเวลาขยับนิ้ว หรือ ปวดบริเวณโคนนิ้วมือเมื่องอนิ้ว เหยียดนิ้ว
สาเหตุของโรคนิ้วล็อค
โรคนิ้วล็อคเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วหรือ เกิดจากการอักเสบหนาตัวของปลอกเอ็นกล้ามเนื้อที่นิ้ว ตรงบริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว ทำให้นิ้วขยับได้ค่อยไม่ งอข้อนิ้วมือแล้วไม่สามารถเหยียดกลับคืนได้ หรือรู้สึกเหมือนนิ้วถูกล็อคไว้ โดยทั่วไปแล้วนิ้วล็อคมักเกิดขึ้นกับนิ้วโป้ง นิ้วกลาง หรือนิ้วนาง หรืออาจเกิดขึ้นกับนิ้วหลายนิ้วและนิ้วมือทั้ง 2 ข้างได้ในเวลาเดียวกัน โดยทั่วไปอาการของโรคนิ้วล็อคจะเริ่มต้นจากอาการเล็กน้อย และเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
อาการของโรคนิ้วล็อคจะแบ่งเป็น 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 จะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้ว กดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้าจะมีอาการปวดมากขึ้น แต่ยังไม่มีอาการสะดุดเมื่อขยับ
- ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการสะดุดเวลาขยับนิ้ว งอนิ้ว และเหยียดนิ้ว
- ระยะที่ 3 เมื่องอนิ้วลงจะมีอาการติดล็อค ไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ต้องใช้มืออีกข้างหนึ่งมาช่วยแกะ หากมีอาการมากขึ้นจะไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง
- ระยะที่ 4 มีอาการอักเสบและบวม ไม่สามารถเหยียดนิ้วได้ และอาการปวดรุนแรงมากขึ้น
วิธีบริหารคลายนิ้วล็อก ด้วยตนเอง
- แช่น้ำอุ่น 10-15 นาที การใช้น้ำอุ่นหรือความร้อน ช่วยทำให้การปวด การอักเสบของกล้ามเนื้อ และนิ้วมือลดน้อยลง ทำให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
- นวดมือ 10 นาที การนวดมือเป็นสิ่งที่สำคัญในการช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ระบบไหลเวียนเลือดดี ไปเลี้ยงเซลล์ที่ต้องการได้ สำหรับจุดที่ต้องเน้นในการนวด
- บริเวณแขนเหนือข้อมือ 2 นิ้ว (โดยการใช้สองนิ้วมือทาบ) แล้วใช้นิ้วโป้งกดค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 3 รอบ
- บริเวณเนินอุ้งมือที่สูงสุด ทั้ง 2 ข้าง ใช้นิ้วโป้งกดค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 3 รอบ
- บริเวณกึ่งกลางฝ่ามือ ใช้นิ้วโป้งกดค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 3 รอบ
- บริเวณข้อนิ้วมือ ทุกข้อ ใช้นิ้วโป้งกดดันข้อนิ้วมือเข้าจุดศูนย์กลางข้อทั้ง 4 มุม (ล่างซ้ายขวา และบนซ้ายขวา) กดค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 3 รอบ
วิธีบริหารนิ้วรายวัน
- กล้ามเนื้อบริเวณแขน มือ นิ้วมือ โดยยกของระดับไหล่ ใช้มือหนึ่งดันให้ข้อมือกระดกขึ้น ลง ปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ นับ 1 ถึง 10 แล้วปล่อย ทำ 5 ถึง 10 ครั้งต่อเซ็ต
- บริหารด้วยการ กำ-แบ มือ โดยฝึก กำ-แบ เพื่อการเคลื่อนไหวของข้อนิ้ว และกำลังกล้ามเนื้อภายในมือ โดยทำ 6 ถึง10 ครั้งต่อเซ็ต ในกรณีนิ้วล็อคไปแล้ว งดทำท่านี้
- หากเริ่มมีอาการปวดตึง แนะนำให้แช่มือในน้ำอุ่นไว้ 15 ถึง 20 นาทีทุกวัน วันละ 2 รอบ เช้า – เย็น หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้มาพบแพทย์แลพทำการรักษาทางกายภาพต่อไป
วิธีการรักษา นิ้วล็อค
วิธีรักษาอาการนิ้วล็อคนั้นมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น
- การรักษาด้วยยา ใช้ยาต้านการอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการปวด แต่ยาดังกล่าวไม่สามารถบรรเทาอาการบวมตรงปลอกหุ้มเอ็นนิ้วได้
- ประคบด้วยถุง ร้อน หรือ เย็น ผู้ที่มีอาการนิ้วล็อคบางรายอาจใช้วิธีประคบเย็นที่ฝ่ามือ ซึ่งจะช่วยให้อาการนิ้วล็อคดีขึ้น นอกจากนี้การแช่น้ำอุ่นก็บรรเทาอาการให้ทุเลาลงโดยเฉพาะหากทำในช่วงเช้า
- การพักผ่อน พักมือ จากการทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือออกแรง หรือแบกน้ำหนักซ้ำๆ เป็นเวลานาน โดยเว้นกิจกรรมดังกล่าวเพื่อพักการใช้งานมืออย่างน้อย 3 – 4 สัปดาห์
- ออกกำลังกายยืดเส้น โดยแพทย์จะแนะนำให้ออกกำลังกายเบาๆ เพื่อช่วยให้นิ้วเคลื่อนที่ได้ปกติ
- ใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว การใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว หรือ Splinting จะช่วยดามนิ้วให้ตรง ไม่งอหรือเหยียดเกินไป อีกทั้งช่วยให้นิ้วได้พัก หากเกิดอาการนิ้วล็อคในตอนเช้าเป็นประจำ แพทย์จะให้ใส่อุปกรณ์ดังกล่าวดามนิ้วไว้ตลอดคืน เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้นิ้วเกร็งหรืองอเข้าไปเองขณะนอนหลับ
- เมื่อเกิดอาการนิ้วล็อครุนแรง วิธีรักษาด้วยยา และการบำบัดใช้ไม่ได้ผล หรือ อาการไม่ดีขึ้นเลย อาจต้องไปรับการรักษาด้วยการศัลยกรรม และกระบวนการทางการแพทย์วิธีอื่น เช่น การฉีดสารสเตียรอยด์ เป็นการฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ซึ่งสารนี้จะช่วยลดอาการบวมอักเสบของเอ็น และช่วยให้เอ็นนิ้วสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
- การผ่าตัด หากการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดเพื่อรักษาอาการนิ้วล็อค โดยทั่วไปผู้ป่วยไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล
วิธีที่กล่าวมาข้างต้น จะใช้ได้ดีที่สุดสำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการ หรือเป็นมาไม่นาน ส่วนผู้ที่มีอาการหนัก หรืองอนิ้วไม่ได้เลย อาจจะช่วยได้เพียงเล็กน้อย หากมีอาการงอนิ้วไม่ได้เลย แนะนำให้ไปพบแพทย์จะดีที่สุด สามารถติดตามคอนเทนต์ดีๆแบบนี้ได้ที่ iNN Lifestyle
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news