Home
|
ทั่วไป

“นพ.อุดม” รับมีโอกาสโอมิครอนผสมเดลต้าเป็นไฮบริด

Featured Image
“นพ.อุดม” รับมีโอกาสโอมิครอนผสมเดลต้ากลายพันธุ์เป็นไฮบริด ห่วงฉลองปีใหม่ขอประชาชนเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสในเดือนธ.ค.นี้ หลังพบการฉีดลดน้อยลง พบวัคซีนกระจายในหลายพื้นที่เหลือกว่า 10 ล้านโดส

นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมศบค.ชุดใหญ่ ว่า วันนี้ยังไม่มีวาระพิจารณาเรื่องสถานบันเทิงเข้าที่ประชุม ขณะนี้ตนมองว่าการแพร่ระบาดโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนมีความสำคัญมากกว่า ซึ่งองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้มีการแถลงซึ่งมีข้อมูลที่ชัดเจน มีการยืนยันว่ามีการเจ็บป่วยไม่รุนแรง ซึ่งถือเป็นข่าวดี แต่พบว่ามีการแพร่ได้รวดเร็วจากสายพันธุ์เดลต้า 2-5 เท่า

 

ทั้งนี้หากดูข้อมูลในประเทศไทยตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ แต่ลดลงแบบช้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจถือว่าประชาชนช่วยกันได้ดี ทั้งนี้อยากให้ดูภาพแตกต่างของประเทศไทยและประเทศฝั่งยุโรปที่มีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนมากกว่าไทยแต่ยังมีการติดเชื้อ 3-4 หมื่นคนต่อวัน และสิ่งที่แตกต่าง คือ ไม่ได้เคร่งครัดมาตรการ ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ขณะที่คนไทยสวมใส่หน้ากากอนามัยประมาณ 99% จึงขอเตือนประชาชนว่าอย่าชะล่าใจเพราะการฉีดวัคซีนป้องกันไม่ได้ 100% ทั้งนี้โอมิครอนที่ไม่รุนแรงต้องให้เครดิตการฉีดวัคซีน

 

ทั้งนี้ตนได้มีการดูข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการฉีดวัคซีนพบว่าการฉีดเข็ม 1 ขาดอีกประมาณ 7 หมื่นคนจะครบ 100 ล้านโดส ขณะที่เข็ม 2 ขาดอีกประมาณ 2-3 ล้านคน จึงอยากประชาสัมพันธ์ในคนที่ลังเลให้รีบไปฉีดเพราะสามารถป้องกันได้ หากไม่คิดถึงตัวเองก็ขอให้คิดถึงคนรอบข้าง เพราะหากติดเชื้อสามารถแพร่ไปหาคนอื่นได้ หากคนที่รับเชื้อเป็นกลุ่มสูงอายุหรือมีโรคประจำตัวอัตราการเสียชีวิตจะสูง

 

ซึ่งคนที่เสียชีวิตขณะนี้ 90% เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวและ 70% ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ขณะที่ตอนนี้มีการกระจายวัคซีนไปทั่วประเทศและยังไม่ได้ฉีด 10 กว่าล้านโดส แบ่งเป็นซิโนแวค 2 ล้านกว่าโดส แอสตราเซเนกาอีกกว่า 6 ล้านโดส ไฟเซอร์อีก 3 ล้านโดส เดิมตั้งเป้าการฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสในเดือนพ.ย.แต่ไม่ได้เพราะคนลังเล ดังนั้นจึงขอกลับไปเป้าเดิมคือฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสในเดือนธ.ค.เพื่อช่วยกันปกป้องคนรอบข้าง ปกป้องประเทศให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ และปกป้องตัวเองจากโอมิครอนด้วย

 

ซึ่งในประเทศพบการติดเชื้อแล้ว 8 ราย และประเทศใกล้เคียง เช่นเกาหลีใต้พบการติดเชื้อโอมิครอนในประเทศ ซึ่งมีการกลายพันธุ์เป็นโอมิครอนได้ ซึ่งขณะนี้กระจายไปกว่า 60 ประเทศ ประเทศไทยหนีไม่พ้นและต้องเจออย่างแน่นอน และการแพร่กระจายเร็วจะทำให้เหมือนเดิมเหมือนปีที่แล้ว เดิมเบต้า เดิมแอลฟ่าประมาณ 80-90% แต่ใช้เวลาไม่ถึง 6 เดือน เดลต้าเข้ามาถึง 90% ซึ่งจะเหมือนเดิมหากไม่มีความระมัดระวัง โอมิครอนก็จะเข้ามาแทนเดลต้า ซึ่งสิ่งที่ป้องกัน คือ วัคซีน และอีกอย่าง คือ พฤติกรรมของตัวเราเองการสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง

 

ทั้งนี้มีความกังวลใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่เราอยากให้ไปเที่ยว อยากให้มีงาน แต่ขอให้มีความระมัดระวัง ขอให้สวมใส่หน้ากากอนามัย พยายามไม่อยู่นานเกิน 2 ชั่วโมง ซึ่งข้อมูลชัดเจนหากอยู่เกิน 2 ชั่วโมงจะเกิดการแพร่เชื้อคนใกล้เคียงสูงมาก นอกจากนี้การผสมกันเป็นไฮบริดระหว่างเดลต้ากับโอมิครอนเป็นไปได้หรือไม่นั้น นพ.อุดม ระบุว่า มีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน การจะกลายพันธุ์ได้ต้องมีการกระจายแพร่เชื้อไปและยิ่งมีการแพร่เชื้อมากจะมีโอกาสกลายพันธุ์หากมีการตัดขั้นตอนไม่ให้มีการแพร่กระจายโอกาสกลายพันธุ์จะลดลงซึ่งเป็นหลักการทางการแพทย์ หากเราช่วยกันในส่วนนี้ ในส่วนของมาตรการสาธารณสุขจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube