ขยายเวลาแบงก์รัฐลดเงินนำส่งกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เสริมความเข้มแข็งช่วยดูแลเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือแบงก์รัฐ
เป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลในการประคับประคองเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนของการดูแลลูกค้าเงินกู้ทั้งส่วนบุคคลและภาคธุรกิจที่ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง
ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ธนาคารเฉพาะกิจอย่างต่อเนื่อง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา จึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการปรับลดเงินนำส่ง
เข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ของแบงก์รัฐทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์
(ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จากอัตราเดิมร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 0.125 ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน ในปี 2565 ต่อไปอีก 1 ปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 เป็นต้นไป
จากนั้นในปี 2566 ให้กลับมานำส่งในอัตราเดิมที่ร้อยละ 0.25
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การปรับลดอัตราเงินนำส่งฯ ดังกล่าว เนื่องมากจากกระทรวงการคลังได้ประเมินว่าสถานการณ์การแพร่ของโรคโควิด-19 ยังยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ภาคประชาชนยังคงต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้นจึงต้องลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อให้เป็นกลไกในการดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การปรับลดเงินนำส่งกองทุนฯ ของแบงก์รัฐทั้ง 4 แห่ง สอดคล้องกับแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินนำส่ง
จากธนาคารพาณิชย์เพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในปี 2565 อีก 1 ปี จากอัตราปกติร้อยละ 0.46
เหลือ ร้อยละ 0.23 จากนั้นในปี 2566 ให้กลับมานำส่งในอัตราเดิมที่ร้อยละ 0.46 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป เช่นเดียวกัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews