Home
|
ข่าว

นายกฯ กำชับกรมปศุสัตว์ เร่งตรวจสอบฟาร์มหมู

Featured Image
นายกฯ กำชับกรมปศุสัตว์ เร่งตรวจสอบฟาร์มหมู สกัดการแพร่ระบาด สนับสนุนการพัฒนาวัคซีนหมู

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาครัฐไม่เคยปกปิดข้อมูลโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (AFS) ในประเทศ ที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ หลังจากมีข่าวโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งตรวจสอบและแก้ปัญหา

 

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังสนับสนุนงบประมาณสำหรับการเฝ้าระวัง ป้องกันและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ส่งเสริมการปรับปรุงยกระดับฟาร์มให้ได้มาตรฐาน GAP หรือให้ได้มาตรฐาน GFM เพื่อการป้องกันควบคุมโรค รวมทั้งมีมาตรการเยียวยาเจ้าของฟาร์ม ด้วยการจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังชี้แจ้งสำหรับกระแสข่าวที่ว่าได้พบการระบาดของโรคอหิวาตห์แอฟริกาในสุกร(ASF)ในประเทศไทยแล้วว่า กรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ตามขั้นตอน หลักวิชาการและมาตรฐานสากล หากพบการแพร่ระบาด จะต้องแจ้งการพบโรคไปยังองค์การสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศเพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทราบด้วย

 

ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่สามารถปกปิดข้อมูล และพร้อมรายงานให้สาธารณะชนทราบตามความเป็นจริง กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการตามบัญชานายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น มีเจ้าหน้าที่กองสารวัตรและกักกัน จะเข้าไปสำรวจโรคและเก็บตัวอย่างจากเลือดสุกร นำไปตรวจหาโรคโดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ พร้อมทั้งประเมินพื้นที่เสี่ยงและความเสี่ยงระดับฟาร์ม หากพบมีความเสี่ยงสูงและไม่สามารถปรับปรุงระบบการป้องกันโรคได้จะทำลายสุกรเพื่อลดความเสี่ยงและจ่ายเงินชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย

 

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเกษตรกรหากพบสัตว์ป่วย ต้องแจ้งกรมปศุสัตว์ตามกฏหมาย เพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด ลดความเสียหายแก่เกษตรกร ที่ผ่านมาการเกิดโรคระบาดในหมูไทยเป็นโรค PPRS เป็นกลุ่มอาการของโรค ในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร แต่ไม่พบว่ามีการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาหมู ( AFS)

 

นายธนกร ยังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังให้มีการแก้ปัญหาโรคระบาดในหมูอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัย พัฒนาวัคซีน ขณะนี้ กรมปศุสัตว์ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวัคซีน ผลิตโปรโตไทป์?ได้ผล 60-70%กำลังเข้าสู่การทดสอบฉีดในหมูในห้องทดลอง หากประสบความสำเร็จ จะเป็นครั้งแรกของโลกที่มีวัคซีนมาใช้ควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกา จะช่วยปกป้องอุตสาหกรรมหมูของไทยทั้งระบบที่มูลค่าการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรรวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสุกรมากกว่า 20,000 ล้านบาท ต่อปี รวมทั้งคนไทยผู้บริโภคทุกคนด้วย

 

สำหรับกรณีราคาหมูแพง รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ เปิด 667 จุดบริการทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 116 หน่วยบริการ รถโมบายตระเวนตามพื้นที่ 50 คัน ตั้งจุดบริการ 50 แห่ง และสมาคมฯ 16 แห่ง ต่างจังหวัด 551 แห่ง เพื่อจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูก เพิ่มช่องทางในการเลือกซื้อเนื้อหมู ช่วยลดภาระค่าครองชีพ เป็นมาตรการเสริม ถึงสิ้นเดือนนี้

 

นอกจากนั้นนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข รองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ซึ่งรัฐบาล โดย ศบค. ได้ยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยได้ยกระดับการเตือนภัยจากระดับที่ 3 เป็นระดับที่ 4 ซึ่งกำชับให้ประชาชนทุกคน งดรับประทานร่วมกัน งดการดื่มสุราในร้าน งดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท เลี่ยงเข้าใกล้ผู้อื่นนอกบ้าน งดร่วมกิจกรรมกลุ่ม ลดการใช้โดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท รวมถึงงดไปต่างประเทศ และหากจะเดินทางเข้าประเทศก็จำเป็นต้องกักตัว

 

ขณะเดียวกันได้ยกระดับพื้นที่จังหวัดต่างๆ เป็นพื้นที่ควบคุม (พื้นที่สีส้ม) ทั้งประเทศรวมทั้งสิ้น 69 จังหวัด ในส่วนของพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 8 จังหวัด (พื้นที่สีฟ้า) และนำร่องบางพื้นที่ 18 จังหวัด ให้คงไว้ตามเดิม โดยจะเริ่มบังคับใช้ในวันนี้ 9 มกราคม 2565 นี้ สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างจังหวัด สามารถเดินทางได้ปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด

 

นอกจากนี้ ในส่วนของการลงทะเบียนเข้าประเทศในรูปแบบ Test and Go ได้มีการพิจารณาให้ระงับการลงทะเบียนออกไปก่อน โดยจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งในภายหลัง สำหรับ ผู้ที่ได้รับการอนุมัติให้เดินทางเข้าราชอาณาจักรแล้ว สามารถเดินทางได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่มาตรการกำหนดและตามวันเวลาที่ขออนุมัติ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

 

“นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังเป็นการระบาดในลักษณะคลัสเตอร์เท่านั้น ยืนยัน รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งระบบการรับแจ้งเหตุ (Call Center) การคัดกรอง/คัดแยกผู้ป่วย การรักษาตามระดับความรุนแรงของอาการ และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมของ โรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนาม CI/HI /Hospitel อย่างไรก็ตามประชาชนทุกคนจำเป็นต้องป้องกันตนเองอย่างเข้มงวด สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ทดสอบตนเองด้วย ATK เมื่อเดินทางไปสถานที่เสี่ยงหรือเมื่อมีอาการป่วย ที่สำคัญจะต้องฉีดวัคซีนตามที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขแนะนำ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และลดการแพร่ระบาดไปสู่ผู้อื่น”

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebookhttps://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitterhttps://twitter.com/innnews

Youtubehttps://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTokhttps://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account@innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube