Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

โรงเชือดนครปฐมยังเปิดโอดรับบาปหมู ASF

หลังจากกรมปศุสัตว์ได้ออกมายอมรับตรวจพบเชื้ออหิวาต์แอฟริกา หรือ ASF ในหมูที่เก็บตัวอย่างมาจากโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม

 

วันนี้ได้ไปลงพื้นที่สำรวจโรงฆ่าสัตว์ ย่านถนนพวงสำลี ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมืองจังหวัดนครปฐม พบว่า โรงฆ่าสัตว์บางแห่งยังคงมีการเชือดและชำแหละเนื้อหมูอยู่ตามปกติ โดยไม่ได้มีการสั่งปิดจากปศุสัตว์จังหวัดและจากที่ได้มีการสอบถามไปยังเจ้าของโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่ง ย่านถนนพวงสำลี ได้ระบุกับทีมข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า การตรวจพบเชื้อ ASF ในตัวอย่างจากโรงฆ่าสัตว์นั้น จะโทษว่าเป็นความผิดของโรงฆ่าสัตว์ไม่ได้ เพราะเนื่องจากเวลานำสัตว์เข้าโรงเชือดเราไม่รู้สัตว์ตัวไหนติดเชื้อ ต้องขึ้นอยู่กับฟาร์มเลี้ยงและปศุสัตว์ที่จะเข้ามาดูแลตั้งแต่ก่อนนำส่งโรงเชือด และมองว่า การใช้วิธีตรวจหาเชื้อด้วยการนำน้ำเลือดจากด้านหน้าโรงงานมาตรวจสอบแล้วระบุว่าพบเชื้อ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่ามาจากฟาร์มไหน และก็ไม่ใช่ความผิดของโรงเชือดหากจะมีการติดเชื้อในเนื้อที่ชำแหละ

ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงเชือดเคยโดนตรวจสอบในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งไม่พบเชื้อในเนื้อหมูแต่กลับพบเชื้อบริเวณด้านนอก ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่ามาจากฟาร์มใด แต่โรงเชือดต้องปิด 1-2 สัปดาห์ เพื่อรอผลการตรวจสอบจากปศุสัตว์ ในภาวะที่เศรษฐกิจแบบปัจจุบันการปิดโรงงานทำให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีรายได้และโรงเชือดส่วนใหญ่เป็นโรงเชือดขนาดเล็กจึงได้รับผลกระทบมาก

ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู จังหวัดนครปฐม นายชินวุฒิ จินจันทรวงศ์ บอกกับทีมข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า หมูในฟาร์มตายมานานแล้วไม่น้อยกว่าครึ่งปี การออกมายอมรับว่าพบเชื้อ ASF เวลานี้ ไม่ได้เหนือความคาดหมาย แต่การช่วยเหลือชดเชยหลังจากนี้ จะต้องมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาช่วยด้วยการให้กู้ ธกส.ไม่ใช่ทางออกแต่จะเป็นการสร้างหนี้เพิ่มขึ้น รวมถึงการให้เกษตรกรเลี้ยงใหม่ ปิดประตูไปได้เลย เพราะตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนหมูจะตายอย่างต่อเนื่อง เร็วสุดคือ 5 ปีถึงจะเริ่มต้นใหม่ได้ แต่เวลานั้นอาจเหลือแต่รายใหญ่กำหนดราคาหมูในประเทศ คนกินต้องรับกรรมไปเพราะรายย่อยอาจถอดใจเลิกเลี้ยงหมูไปอย่างถาวร

เมื่อเหตุเกิดแล้วความเสียหายที่ผ่านมา หน่วยงานหลักที่ควรออกมาแสดงความรับผิดชอบ คือ กรมปศุสัตว์ จะเดินหน้าอย่างไรต้องทำให้เห็นถึงความจริงใจที่จะช่วยเกษตรกรในประเทศ ซึ่งมีรายงานว่าในวันนี้มีการประชุมหารือร่วมกัน ระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ปศุสัตว์จังหวัดและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในจังหวัดนครปฐม เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือและรับมือกับการระบาดของ ASF ในพื้นที่

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube