กทม.คุมเข้มมาตรการปลอดภัยโควิด-19 ตลาดในกำกับ พร้อมเร่งฉีดวัคซีนในตลาดให้ครบ 488 แห่ง ภายในก.พ. 65
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีตลาดในการกำกับของสำนักงานตลาด กทม. จำนวน 12 แห่ง ที่ผ่านมาสำนักอนามัย กทม. ร่วมกับ กรมอนามัย ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโควิด-19 ตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างต่อเนื่อง และพบว่า ตลาดในการกำกับดูแลได้เข้มงวดปฏิบัติตามมาตรการทั้งผู้ค้าและผู้มาใช้บริการอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ สำนักอนามัย ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้ค้าและแรงงานในตลาดพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านระบบ Video Conference (Zoom Meeting) มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานเขต 50 เขต และผู้ประกอบการตลาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 488 แห่ง
โดยได้ขอความร่วมมือให้สำนักงานเขตและผู้ประกอบการตลาด ดำเนินการตามประกาศกรุงเทพมหานครและมาตรการป้องกันโรค เพื่อควบคุมกำกับดูแลตลาดให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามแนวทาง COVID Free Setting ของกรมอนามัย โดยเฉพาะประเด็น ดังนี้
(1) ผู้ประกอบการตลาดต้องควบคุม กำกับ ดูแล ผู้ขาย แรงงาน และผู้ใช้บริการในตลาดให้ปฏิบัติตามมาตรการหลัก D-M-H-T-A (เว้นระยะห่าง-สวมหน้ากากอนามัย-ล้างมือ-วัดอุณหภูมิ-ใช้แอปพลิเคชัน) อย่างเคร่งครัด
(2) ผู้ประกอบการตลาด ต้องดูแลตลาดให้ถูกสุขลักษณะด้านสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ เช่น การล้างทำความสะอาดตลาดเป็นประจำ การปรับสภาพแวดล้อมให้มีการระบายอากาศที่ดี มีการจัดการขยะที่ถูกต้อง และการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention)
(3) ผู้ประกอบการตลาดต้องประเมินตนเองผ่านระบบ Thai Stop COVID Plus โดยสามารถพิมพ์ใบประกาศ COVID Free Setting หรือ Thai Stop COVID Plus ติดแสดง ณ สถานประกอบการเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ รวมทั้งให้ผู้ประกอบการตลาดประเมินตนเองผ่านระบบแอปพลิเคชัน BKK Food Safety ทุกเดือน
(4) ให้ตลาดในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 และฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ขายและแรงงานในตลาดให้ครบตามหลักเกณฑ์ หากมีการจ้างแรงงานรายใหม่ ให้ผ่านการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์หรือมีผลตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เบื้องต้น หรือผลตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ไม่เกิน 7 วัน หรือเป็นผู้เคยติดเชื้อมาแล้ว 1 – 3 เดือน
ทั้งนี้ในปัจจุบัน สำนักอนามัยได้ตรวจสอบข้อมูลกับ 50 สำนักงานเขต ไม่พบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ในตลาดพื้นที่กรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม ได้ดำเนินการตรวจเชิงรุก (Active Surveillance) ในตลาด ทุก 2 เดือน และกำหนดแผน Sentinel Surveillance หรือมีการตรวจ Active Case-Finding (ACF)
โดยใช้หลักการตรวจทางสถิติ เรียกว่า Lot Quality Assurance Sampling (LQAS) โดยตรวจในตลาดจำนวนทั้งสิ้น 75 คน หากมีผลบวก 1 คน จะปิดแผงค้านั้น แต่ถ้าผลบวก 2 คนขึ้นไป จะปิดตลาด 3 วัน ดำเนินการล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลและฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ปิดแผงที่พบผู้ติดเชื้อ 14 วัน และมีการทำ ACF เพิ่มเติมในผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อคนแรก ถ้าพบผู้ติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 10 จะต้องปิดแผงที่ติดเชื้อต่อให้ครบ 14 วัน นับจากวันที่พบผู้ติดเชื้อ
โดยทางสำนักอนามัยจะออกเอกสารรับรองกับแผงค้าที่เหลือ และสามารถเปิดตลาดได้ในวันที่ 4 นับแต่วันที่ปิด แต่ถ้าหากทำ ACF แล้วพบผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 10 ของคนที่มาทำ ACF ก็จะต้องปิดตลาดต่อจนครบ 14 วัน และทำการสำรวจชุมชนที่พักรอบ ๆ ตลาด และอาจจะต้องดำเนินการ Exit Strategy คือ ฉีดวัคซีนให้กับคนในตลาดและรอบ ๆ ตลาด
ในส่วนของการดำเนินงาน Bangkok Comprehensive Covid-19 Response Team (Bangkok CCRT) และ Sentinel Surveillance ในตลาด จะดำเนินการโดยการสุ่มตรวจ ATK ให้เจ้าหน้าที่หรือประชาชนที่อยู่ในตลาด ซึ่งเป็นคนที่ทำงานในตลาดหรือเดินตลาดเป็นประจำ ตลาดละ 75 ราย ร่วมกับการให้บริการฉีดวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19
โดยทางศูนย์บริการสาธารณสุขจะลงพื้นที่ไปฉีดให้ที่ตลาด ซึ่งจะดำเนินการให้ครบ 488 แห่ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มาใช้บริการว่ามีความปลอดภัย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews