ทันทีที่ “มงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์” ประกาศออกมาว่ากลุ่มพรรคเล็ก มีทั้งฝ่ายรัฐบาลและซีกฝ่ายค้านได้รวมตัวกันตั้งกลุ่มขึ้นมามีประมาณ 16 คน
ภายใต้ชื่อ “กลุ่ม16” เพื่อขับเคลื่อนทางการเมือง ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ไม่สนใจมติวิปอีกต่อไป โดยมี “พิเชษฐ์ สถิรชวาล-คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล และดำรงค์ พิเดช” เป็นแกนนำ นับว่าสร้างเสียง ฮือฮาพอสมควร และทำให้คอการเมืองใหญ่ คิดย้อนไปถึง”กลุ่ม16″ ในตำนาน ที่สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองเอาไว้อย่างมากมายเมื่อ 30 ปีก่อน และเทียบเคียงว่ากลุ่ม 16 ในยุคนี้ ของ “เต้-มงคลกิตติ์” และชาวคณะ จะมีราคาเทียบชั้น “กลุ่ม 16” ในอดีต ที่มี “เนวิน ชิดชอบ-ไพโรจน์ สุวรรณฉวี-สุชาติ ตันเจริญ-สมพงษ์ อมรวิวัฒน์-วราเทพ รัตนากร” เป็นแกนนำได้อย่างไรบ้าง จะสามารถสร้างอิทธิพลต่อรองทางการเมือง มีพลังเพียงพอที่จะไปทำให้รัฐบาลหันมามอง หรือฝ่ายค้านเกรงใจได้หรือไม่ เพราะแค่วันประกาศชื่อกลุ่มเป็นทางการ ก็มี ส.ส.ที่ถูกอ้างชื่อถึง ทยอยปฏิเสธว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้อง ไม่ขอเข้าร่วมกลุ่มเป็นจำนวนมาก จนมาถึงการทำกิจกรรม ครั้งแรกต่อสาธารณชน ตรวจโควิดเชิงรุกด้วย ATK ให้พี่น้องประชาชนฟรี ย่านทุ่งสองห้อง ก็นับหัวแล้วมี ส.ส.ในกลุ่มไม่ถึง 10 ราย ไม่สมราคาคุยเอาเสียเลย
สำหรับกลุ่ม 16 ในตำนานนั้น ไม่ได้มีแค่ 16 คน แต่ชื่อกลุ่มมาจากวันก่อตั้งกลุ่ม คือวันที่ 16 พฤศจิกายน 2535 ส่วน ส.ส.ในสังกัดนั้นมีมากถึง 22 คน ล้วนเป็น ส.ส.ดาวรุ่งพุ่งแรงในยุคนั้น ที่สังกัดพรรคชาติไทย, พรรคชาติพัฒนา และ พรรคพลังธรรม และเป็นฝ่ายค้าน โดยมีประชาธิปัตย์ ยุคของ “ชวน หลีกภัย”เป็นนายกรัฐมนตรี และผลงานชิ้นโบว์แดงของ กลุ่ม 16 คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคประชาธิปัตย์ ขุดหาข้อมูลต่างๆมาประกอบการอภิปราย พร้อมทั้งทำชาร์จ ทำป้ายประกอบ เพื่อแสดงหลักฐานต่างๆในรัฐสภา โดยเฉพาะคดีที่ดิน สปก.4-01 จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องยุบสภาในที่สุด ซึ่งต่อมาเมื่อสลายกลุ่ม 16 ไปแล้วตามกาลเวลา บรรดา ส.ส.กลายเป็นผู้นำกลุ่มใหม่ๆ มุ้งต่างๆ แยกย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ๆ ก็ยังสามารถผลักดันให้หลายๆ คนก้าวไปถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ อาทิ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, บรรหาร ศิลปอาชา หรือแม้แต่ ทักษิณ ชินวัตร และ ส.ส. กลุ่ม 16 ก็ได้รับรางวัลเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีกันอย่างถ้วนหน้า โดยสมาชิกคนสำคัญของ กลุ่ม 16 ในตำนานที่มีบารมีเหลือล้น และผลงานโชกโชน คือ “เนวิน ชิดชอบ,ที่ปัจจุบันคือแบ็กอัพที่แข็งแกร่งของพรรคภูมิใจไทย ส่งน้องชาย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”เป็นเลขาพรรค และนั่งรัฐมนตรีคมนาคม แต่ตัวเองประกาศอำลาการเมืองไปแล้ว เพื่อทำกีฬาเต็มตัวนั่นเอง คนต่อมา “สนธยา คุณปลื้ม” กลุ่มชลบุรี ที่ปัจจุบันก็มาอยู่ใต้ร่มเงาของพลังประชารัฐ ช่วยงาน “บิ๊กตู่” ส่งน้องชาย “อิทธิพล คุณปลื้ม”เป็นรัฐมนตรีวัฒนธรรม, หรือแม้แต่ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ที่เพิ่งลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้าน ก็เคยสังกัด กลุ่ม 16 ด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่า อดีตแกนนำกลุ่ม 16 นั้น มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนการเมืองไทย มาอย่างยาวนาน และยังไม่สิ้นสุด แม้ปัจจุบัน จะอยู่ในช่วงบั้นปลายแล้วก็ตาม แต่ก็ยังวางทายาทไว้สืบทอดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นกลุ่ม 16 ใหม่ จะสามารถพาตัวเองไปอยู่ในจุดนั้นได้หรือไม่ เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์
รายชื่อ ส.ส. กลุ่ม 16 ในตำนาน
1.สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคชาติพัฒนา
2.เนวิน ชิดชอบ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคชาติไทย
3.สุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคชาติไทย
4.ว่าที่ร้อยตรี ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ส.ส.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา (เสียชีวิตแล้ว)
5.จำลอง ครุฑขุนทด ส.ส.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา
6.สนธยา คุณปลื้ม ส.ส.ชลบุรี พรรคชาติไทย
7.วิทยา คุณปลื้ม ส.ส.ชลบุรี พรรคชาติไทย
8.ธานี ยี่สาร ส.ส.เพชรบุรี พรรคชาติไทย
9.สรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.ราชบุรี พรรคชาติไทย
10.ชูชาติ หาญสวัสดิ์ ส.ส.ปทุมธานี พรรคชาติไทย
11.วราเทพ รัตนากร ส.ส.กำแพงเพชร พรรคชาติไทย
12.อิทธิ ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคชาติพัฒนา
13.ประวัฒน์ อุตตะโมช ส.ส.จันทบุรี พรรคชาติพัฒนา
14.ยงยศ อรุณเวสสะเศรษฐ ส.ส.ระยอง พรรคชาติไทย
15.ทรงศักดิ์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคชาติไทย
16.บรรจง โฆษิตจิรนันท์ ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคชาติไทย
17.พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา
18.เกษม รุ่งธนเกียรติ ส.ส.สุรินทร์ พรรคชาติไทย
19.อุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคพลังธรรม
20.เฉลิมชัย อุฬารกุล ส.ส.สกลนคร พรรคความหวังใหม่
21.ร้อยตรีหญิงพนิดา เกษมมงคล ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคเสรีธรรม
22.เสริมศักดิ์ การุญ ส.ส.ระยอง พรรคชาติไทย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews