แพงจนพังลากเลือกตั้งใหม่ปีนี้
แพงจนพังลากเลือกตั้งใหม่ปีนี้ เศรษฐกิจไม่ดี นายกฯไม่ตอบคำถามดันลากเข้าเรื่องรามเกียรติ์ งงทั้งสภา ท้าทาย”ล้มนายกฯให้ได้ก็แล้วกัน”
เมื่อเกมการเมืองร้อนฉ่า อันเป็นผลมาจากการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เมื่อวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ฝ่ายค้านนำโดย “หมอชลน่าน ศรีแก้ว” ได้จั่วหัวตอกย้ำความล้มเหลวของรัฐบาลที่นำไปสู่สถานการณ์ “แพงจนพังทั้งแผ่นดิน” นำมาสู่การสวนกลับของนายกรัฐมนตรี ที่ยกรามเกียรติ์ เปรียบฝ่ายค้านเป็นทศกัณฑ์ พร้อมกับท้าทายฝ่ายค้าน ล้มนายกฯให้ได้ก็แล้วกันอีกด้วย
ดังนั้น เมื่ออุณหภูมิการเมืองไทยร้อนแรงขึ้น การขับเคลื่อนนโยบายหรือแม้กระทั่งเรื่องต่างๆ จะเข้มข้นมากน้อยเพียงใด และเศรษฐกิจไทยในห้วงจังหวะก่อนการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.พาไปวิเคราะห์กับ รศ. ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ที่เขานั้นได้ฉายภาพไว้อย่างน่าสนใจ
โดย รศ. ดร. สมชาย กล่าวว่า การอภิปรายตาม มาตรา 152 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น เป็นการซ้อมใหญ่ของฝ่ายค้านที่ปูทางไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น และยังเป็นการชี้จุดอ่อน ตอกย้ำข้อผิดพลาดขอรัฐบาล ขณะเดียวกันฝ่ายค้านก็ยังสามารถโชว์จุดแข็งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชนได้เห็น รองรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย
“ฝ่ายค้านต้องการที่จะคล้ายๆเรียกว่าเป็นการเตรียมการ สำหรับสองรอบ รอบหนึ่งก็คือ เหมือนเป็นการโหมโรงเพื่อเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นใน 2-3 เดือนข้างหน้าแต่จริงๆแล้ว อย่างไรปีนี้ทุกคนก็มองว่าไม่ช้าไม่เร็วคงจะมีการเลือกตั้ง คือครึ่งปีหลัง อันนี้ก็จะหมายถึงไตรมาสสุดท้ายหรืออย่างไรก็ตาม หลังจากตัวกฎหมายออกแล้ว”
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังจบซักฟอกจะเป็นอย่างไรนั้น รศ. ดร. สมชาย กล่าวว่า ก็ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ หรือ ขยายตัวได้ 3-4% ส่งออกยังโตดี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้น นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้อย่างน้อย 6-8 ล้านคน ขณะที่งบประมาณภาครัฐ ทั้งจากพรก.เงินกู้ งบลงทุนต่างๆ ที่จะอัดฉีดลงสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหากมีการกลายพันธ์ รวมถึงราคาน้ำมัน และหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงอยู่ ซึ่งหากรัฐบาลไม่ดูแลก็จะเป็นปัญหาได้
“ยกเว้น จะคาดไม่ถึงว่าประเภทกลายพันธุ์ที่รุนแรงซึ่งขนาดนี้ก็ยังไม่ได้เห็นภาพเหล่านี้เท่าไหร่ แต่นี่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ความเสี่ยงอันที่ 2 ก็คือเรื่องของราคาพลังงาน ต้องยอมรับว่าอยู่ในขาขึ้น ซึ่งอันนี้ก็ต้องหมายความว่ารัฐบาลก็ต้องบริหารอย่าให้มันบานปลาย ความเสี่ยงอันที่3ก็คือว่า เศรษฐกิจมันฟื้นจริงปีนี้นะครับ แต่ว่ามันยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติเพราะว่าอย่างน้อยที่สุดจะกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติก็คือเราติดลบ 6.1 สองปีที่แล้ว ปีที่แล้วได้ 1 ปีนี้ได้ 3-4 กว่าจะได้ 6.1 หมายถึงปีหน้า ซึ่งนั่นก็หมายความว่าการฟื้นอ่อนแออยู่ ดังนั้นการฟื้นอ่อนแอ คำนวณของคนที่ยังลำบากอยู่ยังเยอะ บวกกับหนี้ครัวเรือนเรานะครับ ยังเพิ่มขึ้นตลอด แม้ว่าตัวเลขต่อจีดีพีลดลงก็ตาม เพราะฉะนั้นก็เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องดูแล ในเรื่องของความยากลำบาก การฟื้นตัวยังไม่เต็มที่ ก็ยังช้าอยู่ ความเสี่ยงอันนี้ก็ยังมีปัญหาความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าไม่ดูแลให้ดีมันจะกลายมาเป็นความเสี่ยงด้านสังคมที่เพิ่มมากขึ้น”
และนี่ก็เป็นการสะท้อนความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า การขับเคลื่อนเดินเกมของรัฐบาลและฝ่ายค้านจะดุเด็ดเผ็ดมันส์เข้มข้นมากน้อยแค่ไหน เพราะที่สุดแล้วทุกอย่างเดิมพันที่การเลือกตั้งนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews