“ชูศักดิ์” เปิด 2 ร่างกฎหมายลูกฉบับพรรคเพื่อไทย เดินหน้าทวงการเลือกตั้ง คืนสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย
นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านการเมือง รัฐธรรมนูญ ความเป็นประชาธิปไตยพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง รายละเอียดร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .… และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. …. ฉบับของพรรคเพื่อไทย ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า พรรคเพื่อไทยได้เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีเป้าประสงค์ที่จะแก้ไขในส่วนที่บทบัญญัติเดิมมีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ และเพิ่มในส่วนของสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชน มุ่งหมายในการคืนประชาธิปไตยให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเท่าที่จะทำได้
โดย ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับของพรรคเพื่อไทย มีสาระสำคัญดังนี้
1. การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หลักทั่วไป คือเอาคะแนนรวมทั้งประเทศมาหารด้วย 100 คน เมื่อหารแล้วจะได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน จากนั้นก็เอาคะแนนรวมที่พรรคได้รับมาหารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนในส่วนนี้ ก็จะได้ว่าพรรคนี้จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนเต็มเท่าไร เบื้องต้นก็จะคิดจากจำนวนเต็ม ส.ส. 100 คนก่อน หากได้ ส.ส.ครบ 100 ก็ถือว่าจบ แต่ถ้าคำนวณออกมาแล้วได้ ส.ส.ไม่ครบ 100 คน เช่นคำนวณแต่ละพรรคแล้วได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมา 98 คน ขาดไปอีก 2 คน ก็จะไปคิดเศษจากพรรคการเมืองอื่นๆ
2. เรื่องของการให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหมายเลขเดียวกัน ให้มีการเปิดรับสมัคร ส.ส.เขต ก่อน แต่ยังจะไม่ได้รับหมายเลข จากนั้นจึงเปิดรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อในวันที่สอง ซึ่งจะมีการจับหมายเลขเลยในวันนั้น จะได้หมายเลขของพรรคการเมืองแล้วกำหนดให้การสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จบก่อนการปิดรับสมัคร ส.ส. เขต กำหนดให้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ไม่น้อยกว่าสามวัน วิธีการนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะสามารถจดจำเบอร์พรรคและเบอร์ผู้สมัครที่ตัวเองชื่นชอบได้ง่าย
3. การเพิ่มกรรมการประจำหน่วยจาก 5 คนเป็น 7 คน และแก้ไขเรื่องระยะเวลาต่างๆ เพื่อความสะดวกของพี่น้องประชาชน
สำหรับ ‘ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง’ ประเด็นสำคัญที่เสนอให้มีการแก้ไขดังนี้
1. ยกเลิกการเก็บค่าบำรุงพรรคการเมือง เนื่องจากสร้างความยุ่งยากและข้อจำกัดให้ประชาชนพอสมควร
2. ให้ยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเทียบเท่ากับคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมากขึ้น
3. การเสนอให้มีแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดกรณีการยินยอมให้บุคคลภายนอกครอบงำ ควบคุมสั่งการทำให้พรรคการเมืองขาดความเป็นอิสระ ที่ถือเป็นความผิดถึงขั้นยุบพรรค พรรคเพื่อไทยเห็นว่า จะต้องทำความกระจ่างในเรื่องนี้ จึงคิดว่าสังคมการเมืองการขอคำปรึกษาหารือกับบุคคลต่างๆ ควรเป็นเรื่องปกติ ยืนยันหลักการว่า การพูดจาทำความเข้าใจให้คำปรึกษา คำแนะนำ แต่พรรคยังเป็นอิสระในการทำหน้าที่หรือตัดสินใจ เรื่องนั้นไม่ควรเป็นการครอบงำ ควบคุม สั่งการและต้องย้ำว่าไม่ได้มีการตัดบทบัญญัติเดิมแต่อย่างใด เพียงแต่เพิ่มข้อความให้เกิดความกระจ่าง
4. การทำไพรมารี หลักการควรใช้เขตจังหวัดเป็นเขตรับฟังความคิดเห็น เพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวและเป็นรูปธรรมว่ามีการไพรมารีรับฟังความเห็นประชาชนอย่างแท้จริง
5. ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำนโยบายต้องแสดงที่มาของรายได้ ความคุ้มค่า ความเสี่ยง เพราะไม่มีผลเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ
6. กำหนดให้การเลิกพรรคการเมืองจะต้องผ่านที่ประชุมใหญ่โดยคะแนนเอกฉันท์ การยุบพรรคการเมือง มีความเหมาะสมไม่ยุบกันได้ง่ายๆ การยุบพรรคการเมืองต้องเป็นกรณีที่สำคัญจริงๆ
นอกจากนั้นยังเสนอบทเฉพาะกาลสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่าหากมีการทำตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไว้แล้วให้ทำได้ทุกเขต เมื่อมีการแบ่งเขตใหม่อาจมีผลทำให้เหลือสมาชิกไม่ถึง 100 คนก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ หากมีเขตใหม่และมีสมาชิกอยู่ในเขตใหม่ที่เพิ่มขึ้นแล้วก็สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องเลือกตัวแทนขึ้นอีก
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews