น้ำมันแพงกดค่าแรง 8ปีลุงตู่รีดภาษี1.2ลล.
น้ำมันแพงกดค่าแรง 8ปีลุงตู่รีดภาษี1.2ลล. ส่งออกก็แรงสู้เพื่อนบ้านไม่ได้
อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และอนุกรรมการบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค
“ภาษีน้ำมัน” ยังคงเป็นประเด็นร้อนๆ ที่ถูกตั้งคำถามว่า สูตรการเรียกเก็บภาษีของรัฐบาลมากไปหรือไม่ นั่นเพราะราคาขายปลีกในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่ามติ ครม. จะให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาท แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาษีดังกล่าวไม่ได้ลดลง 3 บาท แต่ลดลง 2.79 บาท/ลิตร ลดจาก 5.99 บาท/ลิตร คงเหลือเก็บ 3.20 บาท/ลิตรนั่นเอง
สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ถาม “น.ส.รสนา โตสิตระกูล” อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ครั้งหนึ่งนั้น ได้ให้สัมภาษณ์กับ ไอ.เอ็น.เอ็น.ถึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 25 บาท สามารถทำได้จริง ซึ่งในวันนี้ “น.ส.รสนา” ได้ฉายภาพภาษีน้ำมันในช่วง 8 ปีของรัฐบาลนายกฯลุงตู่ ไว้อย่างน่าสนใจ โดยกล่าวว่า 8 ปีของรัฐบาลยุคพล.อ.ประยุทธ์ ได้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันมากถึง 1.2 ล้านล้านบาท
“ลองคิดดูนะ น้ำมันแต่ละวันที่คนไทยใช้แต่วัน คือ 100 ล้านลิตรต่อวัน 36,500 ล้านลิตรต่อปีอย่างน้อยนะ เพราะฉะนั้นถ้าคุณเก็บเงินคนไทยเกินไป 1 บาทต่อลิตร เท่ากับเอกชนจะได้เงินฟรีๆ 100 ล้านบาทต่อวัน 36,500 ล้านบาทต่อปี สิ่งที่ธุรกิจพลังงานได้จากประชาชนตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แล้วรัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันยุคของลุงตู่เรานะคะ ได้ภาษีทั้งหมด 1.2 ล้านล้านบาทตลอด 8 ปีที่ผ่านมา อันนี้คิดตัวเลขกลมๆนะ 1 ล้านล้านเพราะว่าขนาดปี 63และ 64 ที่เป็นปีโควิดรัฐบาลยังได้ภาษีสูงถึง 230,000 กว่าล้านเราก็บอกว่ารัฐบาลลดภาษีลงมาหน่อยเพราะว่ารัฐบาลยุคอื่นเค้าเก็บภาษีสรรพสามิตปีละ 5 หมื่นล้าน สูงสุดก็ประมาณ 7 หมื่นล้าน รัฐบาลเก็บ 232,000 ล้าน ในปี 63 แต่ว่ารัฐบาลลดภาษีลงมาเก็บเท่าคนอื่นได้ไหม 7 หมื่นล้าน ก็พอแล้วที่เหลือถือว่าลดให้ประชาชน เขาก็ไม่ลด เขาลด3บาท เอาไปไว้ในกองทุนน้ำมัน”
น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า วันนี้ต้นทุนค่าขนส่งของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้กระทบความสามารถการแข่งขันของไทย และที่สำคัญ รัฐบาลไม่สามารถกดราคาพลังงานให้ต่ำลงได้ ซึ่งทำให้การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน
“”ราคาน้ำมันเป็นต้นทางของเศรษฐกิจภาคการผลิตเพราะฉะนั้นถ้าคุณเก็บราคาสูง รวมภาษีสรรพสามิตรวม VAT แล้วทั้งหมดก็เกือบ 30% นะ ซึ่งมันสูงมาก คนยังไม่ได้ทำมาหากินเลย คุณเก็บขนาดนี้ เศรษฐกิจภาพรวมกระทบกระเทือนแน่นอนลองคิดดูนะ ถ้าคุณจะไปแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร เก็บราคาพลังงานขนาดนี้ เขาบอกว่าโลจิสติกส์ต่อจีดีพีของเราสูงมาก คือ 20% ซึ่ง 20% นี้ แปลว่าต้นทุนในการผลิตสินค้าชิ้นหนึ่ง 100 บาท จะมีต้นทุนค่าขนส่งและพลังงาน 20 บาทแต่ปรากฏว่าสิงคโปร์โลจิสติกส์ต่อจีดีพีเขาคือ 7% ซึ่ง 7% แปลว่าในต้นทุน การผลิต 100 บาท เขาจะมีต้นทุนค่าขนส่งพลังงานเพียง 7 บาท มาเลเซียก็แค่ 13 บาทแต่ประเทศไทย 20 บาท สมมติว่าคุณผลิตสินค้าแบบเดียวกันไปแข่งในตลาด คุณคิดว่าประเทศไทยจะแข่งได้ไหม ซึ่งถ้าจะแข่ง ก็คือกดค่าแรงใช่ไหม เพราะฉะนั้นแรงงานจึงไม่สามารถจะขึ้นราคาได้เราไม่สามารถขึ้นค่าแรงให้ประชาชนได้”
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงจังหวะที่มีการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดต่างประเทศที่จะปรับตัวสูงขึ้นกระทบต่อราคาขายปลีกในประเทศไทย รวมถึงเรื่องราวของภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและคะแนนนิยมของรัฐบาลนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews