ชทพ.ผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพของช้างไทย
“กัญจนา” เผยพรรคชาติไทยพัฒนา ผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองสวัสดิภาพของช้างไทย คนกับช้างต้องอยู่ร่วมกันได้แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไป
นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงสวัสดิภาพและสถานการณ์ช้างไทยในปัจจุบันว่ามีจำนวนช้างเลี้ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 3,800-4,000 เชือก เนื่องด้วยการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมาช้างบ้านได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะต้องอาศัยภาคธรุกิจการท่องเที่ยวเป็นหลัก สำหรับช้างป่ามีการประมาณจำนวนไว้อยู่ที่ 3,000-3,500 ตัว
ปัญหาที่เกิดขึ้นช้างป่าก็คือ ความขัดแย้งระหว่างคนและช้าง การที่ช้างออกนอกพื้นที่มากินอาหาร พืชไร่ อ้อย ข้าว ผลไม้ ของชาวบ้าน ซึ่งอาจเกิดจากการถูกรบกวนภายในป่า เช่น การลักลอบตัดไม้ มีผู้บุกรุกขึ้นไปทำการเกษตร การเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่ป่า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน ว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้ช้างออกมานอกเขตป่าอนุรักษ์ หรือเป็นเพราะคนมาอยู่ในพื้นที่ป่าทับชนกับช้าง
ซึ่งปัจจุบันยังมีเหตุการณ์ช้างทำร้ายชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่ยังมีเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ขณะเดียวกันชาวบ้านก็มีการติดกับดัก เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างลงมากินพืชผล ซึ่งกับดักบางชนิดมีความรุนแรงจนทำให้ช้างได้รับบาดเจ็บเช่นกัน บางตัวอาจถึงแก่ชีวิต
นางสาวกัญจนา กล่าวอีกว่า ขณะนี้องค์กรพิทักษ์สัตว์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมีความกังวลต่อสวัสดิภาพของช้างในประเทศไทย ในด้านช้างเลี้ยงต้องยอมรับว่า เราจะพบเห็นช้างมีความสามารถต่างๆที่เป็นพฤติกรรมเลียนแบบคน ไม่ว่าจะเป็นการเต้น วาดรูป หรือทำการแสดงรูปแบบต่างๆเพื่อสร้างความบันเทิง ซึ่งความสามารถเหล่านี้ได้มาจากการฝึกฝนอย่างหนักโดยเฉพาะอุปกรณ์ในการฝึกฝนช้างเพื่อให้ลืมสัญชาตญาณสัตว์ป่าและกลายเป็นสัตว์ที่เชื่องพร้อมทำตามคำสั่งควาญเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ซึ่งบางปางช้างอาจฝึกอย่างหนักจนเข้าข่ายทารุณกรรม แม้ว่าในอนาคตอันใกล้สถานการณ์โควิดคลี่คลาย การท่องที่ยวฟื้นตัวนักท่องเที่ยวกลับมา แต่รูปแบบการสันทนาการช้างยังเป็นแบบเดิม สวัสดิภาพช้างก็อาจไม่ดีขึ้นมากนัก นี่ถือเป็นห้วงเวลาที่เราต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อภาพลักษณ์ของประเทศเกี่ยวกับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เช่น ปางช้าง ปรับเปลี่ยนกิจกรรมระหว่างช้างและนักท่องเที่ยวโดยไม่เป็นการรบกวนช้างมากเกินไป
เพิ่มการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของช้างแบบใกล้ชิด เช่น การพาช้างอาบน้ำ ให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของช้าง เพื่อคนเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ดูแลช้างด้วย
ปัจจุบันกฎระเบียบของช้างเลี้ยง ได้มีการออกประกาศ มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ. 6413-2563) เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้มีการออกประกาศ “เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ. 2563” โดยนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งมีเป้าหมายให้ช้างในปางช้างได้รับการดูแลให้มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ กำหนดให้เจ้าของช้างและควาญช้างมีหน้าที่จัดสวัสดิภาพช้าง
โดยในช่วงสถานการณ์โควิด ได้มีการจัดตั้ง “ธนาคารหญ้า” พื้นที่อาหารส่วนกลาง ที่เจ้าของช้างสามารถพาช้างมากินอาหารได้ ซึ่งได้ดำเนินการในจังหวัดที่มีช้างอยู่มากอย่าง กาญจนบุรี สุรินทร์ โดยมีกรมปศุสัตว์กำกับดูแล และพรรคชาติไทยพัฒนายังได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ เพื่อเข้าช่วยเหลือปางช้างที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการทอดผ้าป่าช้าง สนับสนุนอาหารแก่ช้างและผู้เลี้ยงช้าง เพื่อเป็นให้กำลังใจและบรรเทาความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการขาดรายได้
นางสาวกัญจนา ระบุอีกว่า สาระสำคัญทางข้อกฎหมายที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่อปางช้างนั้นก็เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องสวัสดิภาพของช้าง ป้องกันการทารุณกรรม อีกทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง เพื่อให้นานาประเทศมีความเข้าใจถึงวิถีชีวิตของคนไทยที่มีความผูกพันกับช้าง
ซึ่งเราทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ช้างไทยได้ โดยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ เลือกทำกิจกรรมกับปางช้างที่ปฏิบัติตามหลักมาตรฐาน ทั้งนี้พรรคชาติไทยพัฒนาได้เสนอ ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองช้างฯ ซึ่งได้ยื่นต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว และอยู่ระหว่างการส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณา โดยพรรคชาติไทยพัฒนาจะมุ่งมั่นส่งเสริมสวัสดิภาพของช้าง จะทำให้ช้างกับคนอยู่ร่วมกันได้โดยสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews