ในสัปดาห์หน้า กรุงเทพมหานครจะเปิดรับสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อย่างเป็นทางการ ในระหว่างวันที่ 31 มีนาคม-4 เมษายน ทำให้ผู้สมัครแต่ละคนต่างเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่
โดยวันนี้ ทีมข่าว INN ลงพื้นที่สำรวจความประชาชนย่านเยาวราช พบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร ขอดูช่วงใกล้ๆ เลือกตั้ง ขณะเดียวกัน อยากได้ผู้ว่าฯ กทม. ที่เข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. กำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ถือเป็นการนับถอยหลังอีกประมาณเกือบ 2 เดือน ที่ชาวกรุงเทพฯ จะได้ผู้ว่าฯ คนใหม่ ในรอบเกือบ 10 ปี ที่ไม่ได้มีการเลือกตั้ง ทำให้สนามเลือกตั้งครั้งนี้ มีว่าที่ผู้สมัครลงแข่งทั้งในนามพรรคการเมืองและในนามอิสระ ค่อนข้างหลากหลาย มีคุณสมบัติ มีความสามารถโดดเด่น มาให้ชาวกรุงเทพได้ตัดสินใจเลือกเข้ามาทำงานอีกครั้ง โดยในสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 4 เมษายน ทางกรุงเทพมหานคร ดินแดน จะเปิดรับสมัครและจับเบอร์ อย่างเป็นทางการแล้วจะได้ให้ผู้สมัครเดินหน้าหาเสียงอย่างเต็มที่
สำหรับปัจจุบัน มีผู้ประกาศตัวว่า จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้วหลายคน อาทิ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (อิสระ) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (พรรคประชาธิปัตย์) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล) นายสกลธี ภัททิยกุล (อิสระ) นางสาวรสนา โตสิตระกูล(อิสระ), รวมถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ลงในนามอิสระเช่นกัน
จากการสำรวจความเห็นของประชาชนย่านเยาวราช ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งการค้า เศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ พบว่า ร้อยละ 80 ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้ว่าคนใด ขณะร้อยละ 20 จะไม่ไปใช้สิทธิ์ เพราะมองว่า เลือกมาแล้วก็เหมือนเดิม เสียเวลาทำมาหากิน ส่วนเรื่องที่อยากให้ผู้ว่า กทม. เข้ามาแก้ปัญหามากที่สุด เกือบ 100% ต้องการให้แก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ของคน กทม. หาเช้ากินค่ำ
คุณหลี บอกว่า มีผู้สมัครผู้ว่าฯ มาเดินหาเสียง แจกโบรชัวร์ ส่วนตัวขอรอดู ช่วงใกล้เลือกตั้งเพื่อพิจารณาตัดสินใจอีกครั้ง แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าผู้สมัครแต่ละคนแค่มาหาเสียง แต่ไม่ได้เข้ามาทำความเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน สำหรับปัญหาที่อยากจะให้แก้ในช่วงสถานการณ์โควิด คือ ด้านเศรษฐกิจปากท้อง เพราะต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจแย่ คนไม่มีกำลังซื้อจากสถานการณ์โควิด ดังนั้น ถ้าทำให้รากหญ้าและชนชั้นกลาง มีรายได้เพิ่ม ก็จะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้น
คุณหมวย แม่ค้าขายน้ำเยาวราช ระบุว่า ช่วงโควิดเข้ามา ทุกคนก็ได้รับผลกระทบกันหมด ส่วนจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ยังไม่ได้คิด เพราะเลือกมาแล้วก็เหมือนเดิม จึงต้องรอดูนโยบายแต่ละคนอีกครั้ง
คุณพี่มาลีวัลย์ เล่าความอึดอัดใจในการใช้ชีวิตช่วงโควิด ที่ลำบากเพราะอาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีรายได้ไม่พอดูแลสามีที่ป่วยติดเตียงมานานกว่า 5 ปี ดังนั้น คนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องก่อน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ เรื่องปากท้องสำคัญที่สุด ส่วนจะเลือกใครนั้น ยังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะยังมีเวลา และขอคุยกันในครอบครัวก่อน เพราะที่ผ่านมา เลือกใคร ก็ไม่ได้เข้ามาแก้ปัญหาจริงจัง
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. 2565 พบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. (รวมถึงสมาชิกสภา กทม. หรือ ส.ก. ที่จะเลือกในวันเดียวกัน) ครั้งนี้ จะมีจำนวนราว 4.5 ล้าน โดยจะเป็นผู้ที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรก เนื่องจากห่างหายไปถึง 9 ปี เต็มถึงกว่า 7 แสนคน คิดเป็น 16% โดยประมาณ ซึ่งน่าสนใจว่า คนกลุ่มนี้จะเทคะแนนไปให้ใคร
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews