ส่งออก 2 หลักหนักที่เอกชน
รัฐบาลฟันธงเศรษฐกิจปีนี้ฟื้นตัวได้ แม้ยังมีปัจจัยเสี่ยงในตลาดโลกกดดัน ทั้งราคาพลังงานและการระบาดของโอไมครอน ที่ทำให้หลายประเทศยังคงต้องปิดเมือง สกัดกั้นการระบาดระลอกใหม่ วาดฝันให้เศรษฐกิจฟื้น
แน่นอนว่าเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยคือการส่งออก ปีก่อนเติบโตได้ถึงร้อยละ 17 และจากฐานที่สูงลิบลิ่วปีนี้ถ้าขยายตัวได้ ร้อยละ 5 ก็ถือว่าน่าพอใจ เพราะมีปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไม่ตกหลายรายการ โดยเฉพาะค่าระวางเรือ และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสงครามรัสเซียยูเครน วัตถุดิบในการผลิตเพื่อการส่งออกหลายรายการเริ่มน้อยลง ตัวเลขสวยหรูคงทำได้ยาก ในขณะที่เป้าหมายการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ตั้งไว้เพียงแค่ร้อยละ 4
แต่ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขึ้นเวทีทั้งปลอบทั้งขู่ภาคเอกชน มัดมือผลักดัน ขอส่งออกปีนี้โต 2 หลัก ที่อย่างน้อยร้อยละ 10 หลังการส่งออกช่วง 2 เดือนแรกของปีขยายตัวได้ร้อยละ 12 ทั้งนี้เพื่อทำให้ GDP ของประเทศปีนี้ ยังคงเติบโตได้ ร้อยละ 3.5-4.5
ที่ต้องเข็นส่งออกให้เติบโต 2 หลัก เป็นเพราะอีกเครื่องยนต์สำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ คือการท่องเที่ยวแน่นอนว่าปีนี้หมดหวัง พลาดเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยว 7 ล้านคนแน่นอน หลังการระบาดของโควิด-19 ยังคงไม่แน่นอนสูง มาตรการป้องกันยังคงเข้มงวดไม่ผ่อนคลาย การเดินทางจึงยังไม่เกิดขึ้นส่งผลกับเม็ดเงินเข้าประเทศลดลง
ส่งออกร้อยละ10ทำได้หรือไม่ ภาคเอกชนโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า จริงๆแล้วโอกาสของการส่งออกไทยที่จะเติบโตมากยังมีอยู่ หากแนวโน้มค่าเงินบาทยังอ่อนค่า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อราคาสินค้าส่งออกของไทย ทำให้การแข่งขันทำได้มากขึ้น แต่ที่เป็นความเสี่ยงคือราคาพลังงานที่ยังไม่แน่นอน และเวลานี้สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้แล้วซึ่งมีต่อต้นทุนการผลิตสินค้า
สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน แม้จะกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยไม่มาก แต่จะกระทบต่อระบบ supply chain ของหลายสินค้า การขนส่ง logistics หลายประเทศเริ่มมีมาตรการรับมืออาจมีผลกับการค้าของไทย จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ต่างๆ เพราะจะมีผลต่อการค้าโลกในอนาคต
แต่สิ่งที่ภาคเอกชนมองเป็นปัจจัยหนุนทำให้ตัวเลขการส่งออกเติบโตขึ้นได้อีก คือ กรอบข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่ในปีนี้ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา จะมีส่วนช่วยให้ผู้ส่งออกไทยได้ประโยชน์ ใช้สิทธิ์เพิ่มแต้มต่อทางการค้าได้มากขึ้น
ร้อยละ 10 ถึงแม้จะเป็นตัวเลขที่สูงแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แค่ภาครัฐสนับสนุนอำนวยความสะดวกทุกรูปแบบเท่าที่ทำได้ ภาคเอกชนก็พร้อมจะดิ้นรนเต็มที่ เพราะทุกบาทหมายถึงรายได้ของตัวเองและ GDP ของประเทศ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews