พรรคกล้า จี้รัฐทบทวนเก็บภาษีที่ดินเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ มองเร็วไปผู้ประกอบการท่องเที่ยวตั้งรับไม่ทัน เจอทั้งวิกฤตโควิดและสงคราม
นายเทมส์ ไกรทัศน์ รองโฆษกและผู้เสนอตัวสมัคร ส.ส.ภูเก็ต พรรคกล้า กล่าวภายหลังจากลงพื้นที่ในภูเก็ตและได้รับร้องเรียนจากภาคธุรกิจโรงแรม และภาคบริการขนาดเล็กและขนาดกลาง ถึงกรณี รัฐบาลประกาศจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 100% แบบไม่มีผ่อนผัน ว่า ภาษีที่ดินฯตราขึ้นเพราะกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนฯ และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งใช้มานานแล้วและไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน กล่าวคือการจัดเก็บภาษีตั้งอยู่บนความเป็นธรรม มีทรัพย์สินมาก ก็เสียมาก หากปล่อยรกร้างไม่ทำประโยชน์ ยิ่งทำให้เสียมูลค่าเสียการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวม จึงต้องเสียแพงขึ้น ซึ่งมีความเป็นธรรมเป็นเหตุเป็นผล
แต่หลักการดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า โลกเศรษฐกิจที่มีการลงทุนเป็นปกติ คนใช้ชีวิตปกติ แต่นี่เกิดโรคระบาดต่อเนื่องยาวนาน สิ่งต่าง ๆ บนโลกเหมือนชะงักมากว่า 2 ปี แถมยังมีมาตรการผ่อนคลายที่รัฐออกมาช้า สะท้อนว่ายังหวั่นเกรงการระบาดอยู่ แต่ภาษีที่ดินฯ กลับขอให้จ่ายปกติไว ๆ
นายเทมส์ กล่าวด้วยว่า ผู้ประกอบการยังไม่สามารถเดินหน้าทำธุรกิจได้ปกติ ทั้งบุคคลหรือผู้ประกอบการที่ถือครองที่ดิน (และอาคาร) ก็ลำบากกันถ้วนหน้า รายได้ไม่เข้า หรือแม้จะพอมีเข้ามาบ้าง ก็เอาไปใช้หนี้เก่าที่กู้มาตอนเจอวิกฤตโควิด ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา บางส่วนที่สามารถกลับมาเริ่มเปิดกิจการได้แล้ว ก็มาเจอปัญหาใหม่จากสงครามรัสเซียกับยูเครน
เพราะช่วงล่าสุดที่ผ่านมาคนรัสเซียเข้าภูเก็ตเป็นอันดับ 1 และมาซ้ำเติมด้วยปัญหาเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น จ.ภูเก็ตซึ่งมีปัญหาของแพงอยู่แล้ว ก็ยิ่งแพงขึ้นไปอีก ตอนนี้หลายฝ่ายทั้ง ภาคเอกชน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงสมาคมโรงแรมไทย ก็ออกมาส่งเสียงเรื่องนี้ รัฐบาลได้ยิน แต่ยังคงยืนยันว่าจะไม่ผ่อนผันให้แล้ว
ซึ่งมองว่ารัฐบาลถอนความช่วยเหลือเร็วไป ปีก่อนเก็บแค่ 10% ปีนี้มา 100% เลยแทนที่จะค่อย ๆ ขึ้นแบบขั้นบันได ก็จะช่วยให้คนทำธุรกิจลืมตาอ้าปากได้บ้าง มีกำลังที่จะจ้างงานต่อ เป็นผลดีต่อห่วงโซ่ธุรกิจภาพรวม
แทบจะทุกคนเข้าใจว่ารัฐต้องนำภาษีไปใช้จ่าย พัฒนา แก้ปัญหาต่างๆ ถ้าท่านมองว่าตอนนี้ต้องช่วยกัน เห็นใจรัฐบาลบ้าง ท่านก็ควรตัด/ลดงบจำพวกอบรมศึกษาดูงานสร้างอาคารราชการใหม่ จัดซื้อของอะไรที่ไม่ช่วยกระเตื้องเศรษฐกิจปากท้อง ออกไปก่อน สัก 2-3 ปี ได้หรือไม่ ภาษีที่ดินฯ จะมองว่ามันเหมือนเป็นภาษีคนรวย ภาษีของนักธุรกิจก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่ความจริงแล้ว มันผูกกันไปทั้งวัฏจักรเศรษฐกิจ
หากผู้ประกอบการเขาแย่ ทำต่อไม่ไหว เพราะมีต้นทุนทางภาษีก้อนใหญ่มาซ้ำเติมปัญหาเดิมเข้าไปอีก การเลิกจ้างหยุด-ปิดกิจการ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือขึ้นราคาสินค้าและบริการ พนักงานสวัสดิการลด เงินเดือนไม่ขึ้น เป็นต้น แล้วแรงกระเพื่อมก็ถึงเราอยู่ดี มากน้อยต่างกันไปเอกชนเขาอุตส่าห์รอดมาได้ ช่วยยื่นมือพาเขาไปต่อด้วย
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวเสริมว่า อันดับแรก รัฐบาลควรเร่งชดเชยท้องถิ่นในส่วนของรายได้ที่หายไป เพราะการลดภาษีที่ดิน 2 ปีที่ผ่านมาเป็นนโยบายรัฐบาล
อันดับที่สอง รัฐบาลมีนโยบายลดภาษีที่ดินเพราะต้องการลดภาระประชาชนและผู้ประกอบการในช่วงทำมาค้าขายลำบาก ดังนั้นต้องพิจารณาว่า สถานการณ์ตอนนี้กลับสู่ปกติแล้วหรือยังคำตอบคือยัง จึงควรค่อย ๆ ปรับดีกว่าที่จะเพิ่มทีเดียว 10 เท่า อันดับที่สาม ในกรณีธุรกิจ เราอาจต้องทบทวนว่าหลักการการเก็บภาษีจากมูลค่าทรัพย์สินหรือการจัดเก็บจากรายได้ หลักการไหนมีความเหมาะสมกว่ากัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews