“อนุทิน” ดันสำเร็จ “อาเซียน” ไว้ใจไทยตั้ง ACPHEED
“อนุทิน”ดันสำเร็จ “อาเซียน” ไว้ใจ ไทยตั้งสำนักเลขาธิการ ACPHEED รับมือภัยสาธารณสุขฉุกเฉิน-โรคอุบัติใหม่
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขและคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 15 (15th ASEAN Health Ministers Meeting) โรงแรมคอนราด บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีสาระสำคัญ
คือ การร่วมกันผลักดันให้ไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียน ด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ( ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases: ACPHEED) หลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการเจรจาเพื่อเลือกประเทศที่ตั้งของศูนย์นี้มานานกว่า 2 ปี โดยสามารถบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์ได้ในการประชุมระดับรัฐมนตรี และที่ประชุมได้เลือกประเทศไทย เป็นที่ตั้งของศูนย์ดังกล่าว โดยจะทำการเปิดสำนักงานฯ ในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอย่างมาก
ทั้งนี้ ภายหลังทราบผลการพิจารณา นายอนุทิน ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมพิธีเปิดสำนักงานด้วย
ขณะเดียวกัน นายอนุทิน ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวง เข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาเซียน บวก 3 (จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ทั้งยังได้หารือแบบทวิภาคีในประเด็นความร่วมมือด้านสาธารณสุข กับนานาชาติ อาทิ รัฐมนตรีสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา และรัฐมนตรีสาธารณสุขสิงคโปร์ อีกด้วย ขณะที่การหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ไทยได้รับคำขอบคุณเรื่องการให้บริการวัคซีนโควิด-19 แก่พลเมืองสหรัฐฯ อย่างครบถ้วน
โดยภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจ นายอนุทิน ได้ร่วมผลักดันยุทธศาสตร์การวางระบบสุขภาพในภูมิภาคอาเซียน ณ โอกาสนี้ นายอนุทิน ได้เล่าเรื่องการควบคุมโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งได้รับเลือกจากองค์การอนามัยโลกว่า เป็นหนึ่งในประเทศ ที่คุมโควิด-19 ได้ดี มีประสิทธิภาพ และประสบการณ์ของไทย จะได้รับการเผยแพร่ เป็นประสบการณ์ ให้นานาประเทศได้รับทราบ เพื่อนำไปปรับใช้
ความสำเร็จที่กล่าวมา นายอนุทิน ได้กล่าวชื่นชม ความร่วมแรงร่วมใจจากภาคประชาชน และทุกภาคส่วน ที่เข้ามาช่วยกันควบคุมโรค นอกจากนั้น ระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ก็เข้มแข็งมาก เพราะมีการพัฒนามาตลอด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งการพัฒนาระบบสุขภาพของไทย มาจากการเรียนรู้ความสำเร็จของนานาชาติเช่นกัน
ซึ่งปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพ ดูแลคนไทยครอบคลุมประชากรแล้ว รวมไปถึงแรงงานนับ 10 ล้านคน โดยให้ความสำคัญไปถึงการดูแลสุขภาพแก่ชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย แรงงานต่างชาติ สามารถเข้าถึงระบบสุขภาพของไทย เช่นนี้เอง จึงทำให้ระบบสุขภาพในประเทศ สามารถเข้าไปจัดการกับปัญหาโควิด-19 ได้อย่างดี
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews