Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

วิกฤตแค่ไหนอาหารยังรอด

ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายสินค้าได้รับผลกระทบไม่สามารถส่งออกได้เนื่องมาจากปัจจัยต่างๆมากมาย แต่กลับมีสินค้าอาหารที่ยังขยายตัวได้ดี เพราะทุกคนยังต้องกินต้องใช้

 

ล่าสุดสถาบันอาหาร ออกมารายงานตัวเลขการส่งออกอาหารของไทยในช่วงไตรมาสแรก ปี 2565 พบว่า ขยายตัวขยายตัวร้อยละ 28.8 คิดเป็นมูลค่ากว่า 286,000 ล้านบาท เนื่องจากประเทศคู่ค้านำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะกลับมาคึกคักในช่วงที่หลายประเทศเตรียมการเปิดประเทศและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารที่ผลิตเพื่อการส่งออก

 

โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ไก่สด ขยายตัวร้อยละ 20.3 ข้าว ขยายตัวร้อยละ 30.8 กุ้ง ขยายตัวร้อยละ 20.2 ส่วนปลาทูน่ากระป๋อง แป้งมันสำปะหลังปริมาณลดลงเล็กน้อยแต่มูลค่ายังคงขยายตัวได้ มีเพียงการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและอาหารพร้อมรับประทานเท่านั้นที่การส่งออกลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากทางการจีนเข้มงวดในมาตรการนำเข้าสินค้าเพื่อควบคุมโควิด-19 ทำให้ผลไม้ส่งออกของไทยโดยเฉพาะทุเรียนหดตัวลง

 

โดยนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า มั่นใจการส่งออกสินค้าอาหารในปีนี้จะยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท ถึงแม้ว่าจะเกิดวิกฤต รวมถึงต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมากก็ตาม แต่อาหารยังคงเป็นปัจจัย 4 ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทุกประเทศจำเป็นต้องมีการนำเข้าเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และนอกจากสินค้าอาหารขั้นพื้นฐานแล้วสินค้าอาหารเฉพาะกลุ่มจะมีอนาคตมากขึ้น และเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้เข้าประเทศต่อไป

 

แต่ผู้ประกอบการยังต้องรับมือต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้นทำให้ราคาสินค้าของไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันจึงมีความจำเป็น โดยการผลิตสินค้าทั้งบริโภคในประเทศและการส่งออก เวลานี้ผู้ประกอบการกำลังเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งในส่วนของวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์และการขนส่ง ทำให้สินค้าเพื่อการบริโภคในประเทศบางรายการจำเป็นต้องขออนุญาตปรับราคาเพิ่มขึ้นแต่การขยับราคาไม่ได้ส่งเท่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะรู้ดีว่ากำลังซื้อของประชาชนยังไม่ดีนัก

 

โดยการปรับขึ้นราคาเวลานี้เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5-10 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจริงของผู้ประกอบการนั้นเฉลี่ยร้อยละ 31-50 แต่เฉพาะต้นทุนบรรจุภัณฑ์อาหารกระป๋อง นับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ถึงปัจจุบัน ต้นทุนพุ่งขึ้นร้อยละ 70 แล้ว เนื่องจากต้องมีการนำเข้าเหล็กทำกระป๋องจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด การช่วยเหลือลดต้นทุนของภาครัฐจึงมีความจำเป็น เพื่อให้ราคาขายในประเทศไม่สูงเกินไปและราคาส่งออกสามารถแข่งขันได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดีต่อการเติบโตในภาพรวมของประเทศ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube