โคราช ป่วยไข้เลือดออก 35 รายช่วง 15-21 พ.ค. 65
โคราช ป่วยไข้เลือดออกสะสม 35 รายช่วง 15-21 พ.ค.65 อีสานล่าง นครชัยบุรินทร์ ป่วยสะสม 82 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงฤดูฝน มักจะพบการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกทุกปี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ฉบับที่ 20/2565 ว่า
ในช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ประเทศไทยมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ประกอบกับเป็นช่วงเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาต่างๆ
ทำให้มีการรวมตัวของเด็กนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้
จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 18 พฤษภาคม 2565 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 1,952 ราย เสียชีวิต 2 ราย
ซึ่งกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 5-14 ปี รองลงมา คือ 15-24 ปี และเด็กแรกเกิด – 4 ปี ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูง 5 จังหวัดแรก คือ แม่ฮ่องสอน ระนอง ตาก นครปฐม และราชบุรี ตามลำดับ
ถึงแม้ว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในช่วงต้นปี 2565 จะมีตัวเลขน้อยกว่าปี 2564 แต่ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลับพบว่าจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว
ซึ่งในเขตสุขภาพที่ 9 กลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ฯ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ปี 2565 ได้รายงานข้อมูล ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2565
ว่า สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 9 ช่วงสัปดาห์ที่ 20 ระหว่างวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2565 มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 82 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต และเมื่อแยกเป็นรายจังหวัด
พบว่า จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วยสะสม 35 ราย,จังหวัดชัยภูมิ ป่วยสะสม 10 ราย , จังหวัดบุรีรัมย์ ป่วยสะสม 1 ราย และจังหวัดสุรินทร์ ป่วยสะสม 36 ราย ซึ่งทั้ง 4 จังหวัดยังไม่มีผู้เสียชีวิต และกลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยมากที่สุดคือ อายุ 10-14 ปี
จึงขอแนะนำให้ประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้าน และโรงเรียนทุกแห่ง ตามมาตรการ 3 เก็บ ได้แก่ 1.เก็บบ้าน/โรงเรียน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก 2.เก็บภาชนะที่มีน้ำขังเพื่อป้องกันยุงลายไปวางไข่
3.เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน/โรงเรียนให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย นอกจากนี้ ควรจัดกิจกรรมเสริมจัดการสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง BIG CLEANING DAY และป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดทั้งในบริเวณบ้านและโรงเรียน ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาได้
โดยหากประชาชนหรือบุตรหลาน มีอาการไข้สูงลอย ให้รับประทานยาลดไข้ และหากทานแล้วไข้ไม่ลด หรือไข้ลดแล้วกลับมาสูงอีก ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา
หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว แขน ขา ขอให้สันนิษฐานว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน และไอบูโพรเฟน นอกจากนี้ หากมีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้องร่วมด้วย
อาจเป็นอาการป่วยร่วมระหว่างโรคไข้เลือดออกกับโรคโควิด 19 ซึ่งจะทำให้มีอาการทรุดหนักได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน และรับการรักษาที่เหมาะสม
จะช่วยลดความรุนแรงของการเสียชีวิตได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews