ทช.ดูพัฒนาถนน “สมุทรสงคราม-สมุทรสาคร”
กรมทางหลวงชนบท สำรวจออกแบบโครงสร้างต่างระดับถนนสาย สค.2055 รองรับปริมาณการจราจรจากการขยายตัวของเมืองสู่จ.สมุทรสงคราม – จ.สมุทรสาคร ในอนาคต
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบททช. เปิดเผยว่า ทางหลวงชนบทสาย สค.2055 เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่ช่วยแบ่งเบาการจราจรจากถนนสายหลัก เนื่องจากมีจุดเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 (พระรามที่ 2) ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีจำนวนปริมาณการจราจรค่อนข้างสูงตลอดทั้งวันจากการคมนาคมขนส่ง ประกอบกับชุมชนโดยรอบสายทางดังกล่าวบริเวณช่วงจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรสงครามต่างก็ได้รับอิทธิพลจากการเจริญเติบโตของเมือง
จึงมีการขยายตัวของพื้นที่เศรษฐกิจและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า หรือโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรหนาแน่นโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนและวันหยุดเทศกาล แต่ปัจจุบันทางหลวงชนบทสาย สค.2055 มีขนาดเพียง 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ทช.จึงเห็นควรว่าจะต้องพัฒนาสายทางดังกล่าวให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนางานทางในโครงข่ายสนับสนุนการคมนาคมขนส่งให้ต่อเนื่องสมบูรณ์
ซึ่ง ทช.ได้ดำเนินโครงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบโครงสร้างต่างระดับบริเวณจุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 บนทางหลวงชนบทสาย สค.2055 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 – เมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม, จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาทางหลวงชนบทสาย สค.2055 ให้เป็นเส้นทางลัดทางเลี่ยงที่สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
โดยมีการศึกษาแนวเส้นทางเริ่มต้นบริเวณจุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 ช่วง กม.ที่ 44+800 วางแนวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือแล้วเลี้ยวซ้ายไปตามแนวถนนลูกรังเดิมในช่วง กม.ที่ 1+950 เป็นระยะทางประมาณ 1,500 เมตร จากนั้นข้ามคลองสุนัขหอนและมุ่งตรงเข้าสู่แนวเส้นทางเดิมของถนนสาย สค.2055 ไปสิ้นสุดโครงการบริเวณทางแยกลาดใหญ่ในช่วง กม.ที่ 12+298 ซึ่งเป็นจุดตัดทางหลวงชนบทสาย สค.2006 รวมระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการคัดเลือกรูปแบบโครงการ เนื่องจากในระยะทาง 2 กิโลเมตร จากจุดกึ่งกลางของแนวเส้นทางอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดและแหล่งประวัติศาสตร์คลองสุนัขหอน จึงต้องจัดทำรายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ ระหว่างดำเนินโครงการจะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ แนวทางและขอบเขตการดำเนินงาน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยการประชุมครั้งที่ 1 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 – 9 กุมภาพันธ์ 2565 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 – 6 พฤษภาคม 2565 ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยและร่วมกันแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จากนั้นในส่วนของครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นเพื่อนำเสนอข้อสรุปผลการศึกษาต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews