สภาเตรียมพิจารณา พรบ.งบฯ วันสุดท้าย หลัง 2 วันแรก ฝ่ายค้านถล่มไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ ไม่รองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขูดรีดประชาชน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3,185 ล้านล้านบาท เป็นวันสุดท้ายจะเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. โดยเมื่อวานนี้ เมื่อสมาชิกฯ อภิปรายเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ประธานฯ ได้สั่งพักการประชุม และนัดประชุมต่อในวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน 2565 จากนั้น ประธานฯ สั่งพักการประชุมเวลา 00.20 น. คาดว่า จะสามารถลงมติภายในวันนี้ โดยภาพรวมการอภิปรายของสมาชิก สลับกันอภิปรายระหว่างสมาชิกฝ่ายค้านและรัฐบาล
ทั้งนี้ สมาชิกฯ ที่อภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ โดยเห็นว่า การจัดทำงบประมาณของนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีความมุ่งหวังให้ประเทศไทยได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรมนุษย์ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเน้นให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนให้การดูแลและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส
นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 ที่รัฐบาลได้ตั้งไว้จำนวน 3,185,000 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและนำงบประมาณที่ได้รับไปใช้อย่างคุ้มค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ แม้ว่าปีที่ผ่านมาจะต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย – ยูเครนที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่รัฐบาลก็สามารถบริหารจัดการจนผ่านพ้นมาได้และเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลกแล้ว ถือว่าประเทศไทยยังโชคดีกว่าหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข
ส่วนสมาชิกฯ อภิปรายไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้หลายประเด็น อาทิ ไม่รองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 และยังเป็นการจัดทำงบประมาณที่ขูดรีดประชาชน โดยออกแบบมาเพื่อหารายได้เข้ารัฐ ด้วยการขูดเลือดขูดเนื้อประชาชน ซ้ำเติมประชาชนที่ลำบากจากวิกฤตโควิด-19 และเห็นว่าการจัดทำงบประมาณดังกล่าว เป็นการจัดทำงบประมาณในลักษณะของการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง นับตั้งแต่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเป็นการบริหารงบประมาณที่ไร้ประสิทธิภาพตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2565 โดยปี 2565 ขาดดุลอยู่ที่ 700,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 4.04 ต่อ GDP ในปี 2566 ขาดดุลงบประมาณ 695,000 ล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 3.9 ต่อ GDP
โดยสรุปตัวเลขการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปี จะเห็นได้ว่ารัฐบาลตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ เศรษฐกิจตกต่ำ และไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคภายในที่ประชาชนขาดกำลังซื้อ เนื่องจากตกงาน ถูกเลิกจ้างงาน ไม่มีการลงทุนของภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐก็ติดขัดในเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าซึ่งจากรายงานของกรมบัญชีกลางพบว่า การเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2565 ขณะด้านความมั่นคงในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อาจไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับยุคสมัยและบริบทของสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และรายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจยิ่งจะเพิ่มภาระให้กับประเทศอีกทั้งควรปรับปรุงงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการและกระบวนการปฏิรูปการศึกษา อย่าเพียงแต่ใช้งบประมาณ เพื่อสร้างแต่อาคารเท่านั้น แต่ควรจัดซื้ออุปกรณ์การสอนให้กับครูด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews