“ชัชชาติ” เชื่อต่อรองค่า BTS ให้ถูกลงได้
“ชัชชาติ” ถกด่วน “กรุงเทพธนาคม” ปมสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว เชื่อต่อรองค่าโดยสารให้ถูกลงได้ เร่งศึกษาภาระหนี้ ก่อนเปิดสัญญาสัมปทานต่อปชช. ระบุขอใช้เวลา 1 เดือนเคลียร์ปม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังร่วมประชุมกับผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า เบื้องต้นหารือเกี่ยวกับสัญญาการจ้างเดินรถ และโครงการนำสายสื่อสารลงดิน กรอบวงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ที่ยังไม่คืบหน้ามาก หาผู้เช่าท่อไม่ได้ การก่อสร้างตั้งงบประมาณกว้าง ทำให้มีปัญหาเรื่องการหารายได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน
ประเด็นสำคัญของการหารือวันนี้คือ การไล่เรียงความเป็นมาของสัญญาจ้างเอกชนเดินรถถึงปี 2585 และการอนุมัติจากสภา กทม. ส่วนการลดอัตราค่าโดยสารให้ต่ำกว่า 65 บาท กรุงเทพธนาคมเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่ง ต้องพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เชื่อว่า จะต่อรองให้ค่าโดยสารถูกลงได้ เพราะการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวถึงปี 2602 เป็นการต่อที่ยาวมาก โดยไม่ได้ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
สำหรับค่าโดยสาร 8 สถานี 25 บาท ถือเป็นเป้าหมายที่ต้องเร่งศึกษา แต่ต้องพิจารณาเงื่อนไขอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น หนี้โครงสร้างพื้นฐานที่ กทม.ต้องจ่าย เป็นปัจจัยที่ทำให้กำไร-ขาดทุนต้องเปลี่ยนไป ซึ่งต้องหารือร่วมกับ กทม. กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) อาจใช้กลไกของสภา กทม.ออกข้อบัญญัติเพื่อให้กู้เงินมาใช้หนี้
“ความยากของปัญหาสายสีเขียวคือ เรื่องไม่ได้ค้างอยู่ที่ กทม. จึงไม่มีสิทธิ ทำได้เพียงให้ความเห็นประกอบ ขึ้นอยู่กับว่า ครม.จะดำเนินการอย่างไร จริง ๆ แล้วเรื่องมาจาก ม.44 ที่ให้ต่อสัญญา”
หนี้จากค่าจ้างการเดินรถส่วนต่อขยาย 1 และ 2 กว่า 4 หมื่นล้าน กรุงเทพธนาคมกำลังทยอยจ่าย ต้องอย่าเอาเรื่องนี้มาเป็นตัวเร่งรัดการแก้ปัญหาระยะยาว เข้าใจว่าสภา กทม.ได้ออกข้อบัญญัติเกี่ยวกับการกู้เงินเพื่อชำระหนี้ 5.5 หมื่นล้านบาท แต่ยังไม่ได้กู้ ต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบและระมัดระวัง
ส่วนการเปิดสัญญาสัมปทานสายสีเขียว คงอาจจะเปิดตามขั้นตอนตามความจำเป็นให้เร็วที่สุด สัญญาสัมปทานที่หมดลงในปี 2572 และจะต่ออายุไปจนถึงปี 2602 เป็นความเห็นของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตามมาตรา 44 อาจจะต้องทบทวนเรื่องนี้กับสภา กทม.อย่างละเอียด ก่อนเข้ารายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในเร็ววันนี้
ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า การคืนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ รฟม.ถือเป็นหนึ่งในทางเลือกหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นทางเลือกได้หมด เราอยากจะขอเดินรถเอง และคืนหนี้โครงสร้างพื้นฐาน 4 หมื่นกว่าล้าน เพราะถือเป็นภาระหนัก ดูตัวอย่างจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีชมพูที่รัฐจ่ายคืนค่าโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ต้นทุนไม่แพงมาก
ส่วนภาคเอกชนที่ส่งสัญญาณว่าต้องแบกภาระหนี้เดือนละกว่า 600 ล้านบาท มีอยู่ 3 ส่วน ได้แก่ หนี้โครงสร้างพื้นฐานคือ โยธา หนี้จากระบบ E&M ที่กรุงเทพธนาคมจ้างเอกชน และหนี้การเดินรถ คงต้องเร่งหาทางแก้ “ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ข้อมูลมีอย่างที่เห็น แต่ต้องมาคุยกันให้ชัดเจน”
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews